สทนช.เร่งฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้อง แก้อุทกภัยลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง

0
3441
สทนช. เร่งเดินหน้ารับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน บูรณาการในการจัดลำดับความสำคัญแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผนงาน หวังขับเคลื่อนไปสู่การแก้ไขปัญหาและพัฒนาการบริหารจัดการน้ำในทุกมิติอย่างยั่งยืน

วันนี้ (15 ตุลาคม 2562) นายนิวัตน์ ภาตะนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานเปิดการประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาจัดลำดับความสำคัญแผนงานเพื่อบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ณ ห้องเอสเพรสโซ่ โรงแรม เดอะคาวาลิ คาซ่า รีสอร์ท จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน คณะกรรมการลุ่มน้ำเจ้าพระยา ท่าจีนและป่าสัก สถาบันการศึกษา สภาเกษตรกร คณะกรรมการจัดการชลประทาน กลุ่มบริหารการใช้น้ำ และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมการประชุมเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการ รวมทั้งแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพื่อนำไปประกอบการศึกษาโครงการให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น

นายปรีชา สุขกล่ำ ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)กล่าวว่า ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นลุ่มน้ำสำคัญที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจของประเทศ ที่ผ่านมาได้เกิดอุทกภัยบ่อยครั้งโดยเฉพาะการเกิด
มหาอุทกภัย ในปี พ.ศ.2554 ซึ่งธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.388 ล้านล้านบาท มีการคาดการณ์ว่าในอนาคตสถานการณ์จะมีความรุนแรงยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาได้มีการรวบรวมแผนงานที่ช่วยแก้ไขปัญหาในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เป็นแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผนงาน ประกอบด้วย

1) โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง

2) โครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย

3) โครงการคลองระบายน้ำควบคู่ถนนวงแหวนรอบที่ 3

4) โครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก

5) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา

6) โครงการบริหารจัดการพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ

7) โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร

8) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน และ

9) โครงการพื้นที่รับน้ำนอง

.

โดยผลสัมฤทธิ์ของทั้ง 9 แผนงาน
จะสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ช่วยตัดยอดน้ำหลากหน้าเขื่อนเจ้าพระยาออกสู่อ่าวไทย เพิ่มความสามารถในการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน และแก้ไขปัญหาผลกระทบในพื้นที่นอกคันกั้นน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา

.

ทั้งนี้ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้เห็นชอบในหลักการของการดำเนินการทั้ง 9 แผน ในการประชุม กนช.ครั้งที่ 4/2559 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 และการประชุมครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 แล้ว
และปัจจุบันการดำเนินงานตามแผนงานทั้ง 9 แผน มีแผนงานที่ดำเนินการแล้วโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ แผนงานที่ 9 โครงการพื้นที่รับน้ำนอง แผนงานที่ดำเนินการบางส่วน ได้แก่  แผนงานที่ 1 โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง แผนงานที่ 4 โครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก แผนงานที่ 5 โครงการ
เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา แผนงานที่ 6 โครงการบริหารจัดการพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ และแผนงานที่ 8 โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน  แผนงานที่อยู่ในระหว่างดำเนินการ ได้แก่ แผนงานที่ 7 โครงการ
คลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ส่วนแผนงานที่ยังไม่ได้ดำเนินการ ได้แก่  แผนงานที่ 2 โครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย และแผนงานที่โครงการคลองระบายน้ำควบคู่ถนนวงแหวนรอบที่ 3  

เนื่องจากการดำเนินงานของ ทั้ง 9 แผนยังขาดการวิเคราะห์ประสิทธิผลและผลกระทบในภาพรวม มีเพียงการวิเคราะห์เป็นรายโครงการซึ่งเป็นการวิเคราะห์บนหลักเกณฑ์ที่ต่างกัน และบางแผนงานยังไม่มีองค์ประกอบที่ชัดเจน อีกทั้งมีโครงการขนาดใหญ่ที่มีวงเงินลงทุนสูง เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณแผ่นดิน ประกอบกับมีความคิดเห็นของนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิด้านน้ำที่แตกต่างกันในเรื่องประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และผลกระทบของโครงการ คือโครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย และโครงการคลองระบายน้ำควบคู่ถนนวงแหวนรอบที่ 3 จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษากรณีเปรียบเทียบทั้ง 2 โครงการเพิ่มเติม รวมถึงศึกษาจัดลำดับความสำคัญแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ด้วย

เพื่อให้การดำเนินงานทั้ง 9 แผน สามารถขับเคลื่อนต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ กนช. จึงได้มอบหมายให้ สทนช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กนช.ดำเนินการศึกษาจัดลำดับความสำคัญแผนงานเพื่อบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาโดยเร่งด่วน ดังนั้น ในวันนี้จึงต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันแสดงความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ เพื่อให้การตัดสินใจดำเนินโครงการเป็นไปอย่างรอบคอบถูกต้องตามหลักวิชาการ รวมทั้งผลการศึกษาจะสามารถนำไปใช้เป็นแผนแม่บท เป็นแนวทางและแผนปฏิบัติการสำหรับการพัฒนาและบริหารจัดการน้ำที่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและ
การพัฒนาในทุกมิติ และนำไปสู่การบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างยั่งยืนต่อไปนายปรีชา กล่าว

อนึ่ง แผนงานทั้ง 9 แผน ประกอบด้วย 1)โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง
เพื่อปรับปรุงระบบชลประทานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของการระบายน้ำทางทุ่งฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่คลอง
ระพีพัฒน์ออกสู่อ่าวไทย โดยเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำได้จากเดิม 210 ลบ.ม./วินาที เป็น 400 ลบ.ม./วินาที

2)โครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย เพื่อเพิ่มความสามารถการระบายน้ำของคลองชัยนาท-ป่าสัก จาก 130 ลบ.ม./วินาที  เป็น 930 ลบ.ม./วินาที และระบายน้ำหลากจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสักให้ระบายออกสู่ทะเลอย่างต่อเนื่อง โดยผ่านคลองระบายป่าสัก-อ่าวไทย มีอัตราการระบายสูงสุด 600 ลบ.ม./วินาที

 3) โครงการคลองระบายน้ำควบคู่ถนนวงแหวนรอบที่ 3 เพื่อลดปริมาณน้ำหลากในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาถึงอ่าวไทย และลดความเสี่ยงของเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง ช่วยให้เกิดความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการน้ำหลาก โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำของอำเภอบางปะอินถึงอ่าวไทยอยู่ในสภาวะวิกฤติ

4)โครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก เพื่อระบายน้ำในแนวเหนือ-ใต้ ตั้งแต่
คลองเจ้าเจ็ดออกสู่อ่าวไทยให้ได้มากที่สุด สามารถระบายน้ำออกสู่ทะเลได้เพิ่มจาก 52 เป็น 130 ลบ.ม./วิ ช่วยลดปริมาณระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและท่าจีนได้ 50% และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บ/ระบายน้ำของแก้มลิง
คลองมหาชัย–คลองสนามชัย

5) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเพิ่มความสามารถใน
การระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยขุดลอกแม่น้ำเจ้าพระยาให้สามารถระบายน้ำได้ 2,500 ลบ.ม./วินาที ที่ระดับตลิ่ง และ 2,800 ลบ.ม./วินาที ที่ระดับคันกั้นน้ำ

6) โครงการบริหารจัดการพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ เพื่อลดผลกระทบชุมชนที่อยู่นอก
คันกั้นน้ำเมื่อมีการระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา 2,800 ลบ.ม./วิ โดยเป็นการปรับวิถีชีวิตในช่วงน้ำหลาก วางผังชุมชนและการใช้ที่ดิน ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค และการทำพนังป้องกันชุมชน

7) โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร เพื่อเพิ่มความสามารถในการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นบริเวณที่ลำน้ำแคบที่สุด ซึ่งปัจจุบันมีความสามารถในการระบายน้ำได้ประมาณ 1,200 ลบ.ม./วินาที ให้สามารถระบายน้ำได้อีก 1,200 ลบ.ม./วินาที

8) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน เพื่อเพิ่มความสามารถในการระบายน้ำให้กับแม่น้ำท่าจีน โดยปรับปรุงขุดลอก
แม่น้ำท่าจีน 23 คุ้งน้ำ และปรับปรุงช่องลัด 4 แห่ง

9) โครงการพื้นที่รับน้ำนอง เพื่อลดผลกระทบจากน้ำหลากในพื้นที่ชุมชนเมือง และชุมชนอุตสาหกรรม โดยบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำ 1.15 ล้านไร่ (ตั้งแต่จังหวัดชัยนาทลงมา) โดยปรับแผนการเพาะปลูก 12 ทุ่งรับน้ำ รองรับน้ำหลากได้ประมาณ 1,500 ล้าน ลบ.ม.