สหกรณ์การเกษตรลุยเดินหน้าเปิดจุดรับซื้อข้าวจากเกษตรกร หลังกระทรวงพาณิชย์เสนอคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) เห็นชอบกรอบวงเงินเพื่อดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรเก็บชะลอและรวบรวมข้าวเปลือก หวังรักษาเสถียรภาพในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมากในขณะนี้ ตั้งเป้ารวบรวมข้าวเปลือกผ่านจุดรับซื้อของสหกรณ์ไม่น้อยกว่า 3 ล้านตัน
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมฯได้เตรียมความพร้อมสหกรณ์การเกษตรเพื่อเข้าโครงการชะลอและรวบรวมข้าวเปลือกปี 2562/63 ของรัฐบาล โดยให้สหกรณ์จังหวัดเร่งแจ้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ ภายหลังจากที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้เชิญผู้ประกอบการค้าข้าว ธ.ก.ส. สมาคมธนาคารไทย องค์การคลังสินค้า และกรมส่งเสริมสหกรณ์ การหารือถึงสถานการณ์ราคาข้าวและการซื้อขายข้าวเปลือก เนื่องจากก่อนหน้านี้พบว่ามีโรงสีเอกชนและสหกรณ์การเกษตรบางแห่งต้องปิดจุดรับซื้อข้าวจากเกษตรกร เพราะประสบปัญหาขาดเงินทุนหมุนเวียน
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ข้อสรุปถึงแนวทางการช่วยเหลือเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก 3 มาตรการ ประกอบด้วย
1 .โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกในต้นฤดูกาลผลิต โดยเก็บในยุ้งฉางของเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกร มีเป้าหมาย 1 ล้านตันข้าวเปลือก มีค่าเก็บรักษาให้เกษตรกรตันละ 1,500 บาท หากสถาบันเกษตรกรเป็นผู้เก็บรักษาข้าว จะได้ตันละ 1,000 บาท และจ่ายให้เกษตรกรที่นำข้าวมาเก็บไว้ที่สหกรณ์ ตันละ 500 บาท วงเงินจ่ายขาด 1,500 ล้านบาท
2.โครงการสินเชื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงิน 15,000 ล้านบาท โดยสนับสนุนสินเชื่อให้แก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่ายหรือแปรรูป อัตราดอกเบี้อ MLR- 1 เท่ากับ 4% ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรจะรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ส่วนรัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 3 วงเงินจ่ายขาด 562 ล้านบาท
3.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก เป้าหมาย 4 ล้านตัน ระยะเวลาเก็บสต๊อก 2-6 เดือน รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 วงเงินจ่ายขาด 510 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าทั้ง 3 มาตรการจะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ในวันที่ 3 ธ.ค 62 นี้
“ปัจจุบันมีสถาบันเกษตรกรที่ดำเนินธุรกิจรวบรวมข้าวจากสมาชิก เป็นสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร 488 แห่งใน 62 จังหวัด สมาชิก 3,335,211 ราย แผนรวบรวมข้าวเปลือกปีการผลิต 2562/63 ปริมาณ 3,142,676 ตัน เป็นการรวบรวมเพื่อจำหน่าย 3,142,676 ตัน แบ่งเป็นข้าวขาว 1,457,860 ตัน ข้าวหอมมะลิ 1,229,754 ตัน
ข้าวเหนียว 276,983 ตัน ข้าวอื่น ๆ 178,079 ตัน การรวบรวมเพื่อแปรรูปเป็นข้าวสาร 289,753 ตัน แบ่งเป็นข้าวขาว 55,903 ตัน ข้าวหอมมะลิ 209,467 ตัน ข้าวเหนียว 12,860 ตัน ข้าวอื่นๆ 12,860 ตัน สำหรับสหกรณ์ที่กู้จากธกส.เพื่อนำมารวบรวมข้าวตามโครงการที่เป็นดอกเบี้ยปกติไปแล้ว จะได้รับการปรับลดดอกเบี้ยตามมาตรการสินเชื่อรวบรวมข้าว โดยย้อนหลังให้ถึงวันที่ 1 พ.ย 2562 “ นายพิเชษฐ์ กล่าว
ผลการรวบรวมข้าวเปลือกของสหกรณ์ ณ วันที่ 18 พ.ย. 62 มีสหกรณ์เปิดจุดรวบรวมข้าวเปลือกจำนวน 314 แห่ง ใน 49 จังหวัด จำนวน 726,617 ตัน หรือร้อยละ 21.16 ของแผน มูลค่ารวม 7,671 ล้านบาท สำหรับผลการรวบรวมเฉพาะข้าวหอมมะลิขณะนี้ดำเนินการแล้ว 436,874 ตัน มูลค่า 5,469 ล้านบาท แบ่งเป็นภาคเหนือ 133,802 ตัน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 303,072 ตัน
.
ซึ่งเมื่อทั้ง 3 มาตรกรผ่านความเห็นชอบของ ครม. แล้ว สินเชื่อที่ได้รับจะมีส่วนช่วยสนับสนุนทุนหมุนเวียนให้ธุรกิจรวบรวมข้าวของสหกรณ์มีความคล่องตัวมากขึ้น และสามารถเปิดจุดรับซื้อข้าวได้เต็มศักยภาพของสหกรณ์