ส่งเจ้าหน้าที่ ลง พท.ด่วน เหตุพบโรคไหม้ระบาดในพท.นาข้าวจ.สุรินทร์ และจ.ศรีสะเกษ

0
1997

ส่งเจ้าหน้าที่ ลง พท.ด่วน เหตุพบโรคไหม้ระบาดในพท.นาข้าวจ.สุรินทร์ และจ.ศรีสะเกษ

(27 ต.ค.) นายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า  จากสถานการณ์ที่ได้เกิดโรคไหม้ระบาดในพื้นที่นาข้าวจังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดศรีสะเกษ นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประภัตร โพธสุธน รวมถึงกรมการข้าวได้มีความห่วงใยชาวนา ได้เตรียมการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้การช่วยเหลือ โดยสั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ให้หาแนวทางช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนและประสานหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อเป็นการทำงานแบบบูรณาการ ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด เกษตรจังหวัด เจ้าหน้าที่กรมการข้าว ซึ่งจากการทำงานในครั้งนี้ คาดว่าจะช่วยแบ่งเบาความเดือดร้อน ให้แก่ชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคไหม้ในครั้งนี้ได้

สำหรับโรคไหม้สาเหตุเกิดจากเชื้อรา พบทุกภาคของประเทศไทย ในสภาพข้าวนาสวนและข้าวไร่ ทั้งฤดูนาปีและฤดูนาปรัง ลักษณะอาการ ที่พบในต้นข้าวระยะต่าง ๆ มี ดังนี้

ระยะกล้า ใบมีแผลจุดสีน้ำตาลคล้ายรูปตามีสีเทาอยู่ตรงกลางแผล ความกว้างของแผลประมาณ 2-5 มิลลิเมตร และความยาวประมาณ 10-15 มิลลิเมตร แผลสามารถขยายลุกลามและกระจายทั่วบริเวณใบ ถ้าโรครุนแรงกล้าข้าวจะแห้งฟุบตายอาการคล้ายถูกไฟไหม้

ระยะแตกกอ อาการพบได้ที่ใบ ข้อต่อของใบ และข้อต่อของลําต้น ขนาดแผลจะใหญ่กว่าที่พบในระยะกล้า แผลลุกลามติดต่อกันได้ที่บริเวณข้อต่อ ใบจะมีลักษณะแผลช้ำสีน้ำตาลดำ และมักหลุดจากกาบใบเสมอ

ระยะออกรวง เรียกว่าโรคไหม้คอรวง ข้าวที่เพิ่งจะเริ่มให้รวงเมื่อถูกเชื้อราเข้าทําลายเมล็ดจะลีบหมด แต่ถ้า เป็นโรคตอนรวงข้าวแก่ใกล้เก็บเกี่ยวจะปรากฏรอยแผลช้ำสีน้ำตาลที่บริเวณคอรวงทำให้เปราะหักง่าย รวงข้าวร่วงหล่น เสียหายมาก

การแพร่ระบาด

พบโรคไหม้ระบาดในแปลงที่ต้นข้าวหนาแน่น ทำให้อับลม ถ้าใส่ปุ๋ยไนโตรเจนสูง มีสภาพแห้งในตอนกลางวัน และชื้นจัดในตอนกลางคืน น้ำค้างยาวนานถึงตอนสายราว 9 โมง อากาศค่อนข้างเย็นอุณหภูมิประมาณ 22-25 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพันธ์สูงมากกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ และลมพัดแรงจะช่วยให้โรคแพร่กระจายได้ดี

การป้องกันกำจัด

1. ในกรณีที่พบโรคไหม้มีอาการรุนแรง หรือพบพื้นที่ใบเสียหายจากการเป็นโรคถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ในข้าว ระยะกล้าถึงแตกกอเต็มที่ และ 5 เปอร์เซ็นต์ ในข้าวระยะตั้งท้อง หรือพบแผลโรคไหม้ที่ใบธง ควรใช้สารป้องกันกําจัด โรคพืช เช่น ไตรไซคลาโซล ไอโซโปรไธโอเลน (ควรใช้เฉพาะในระยะกล้าถึงแตกกอ) ตามอัตราที่ระบุ

2. ในฤดูกาลต่อไป ควรปฏิบัติ ดังต่อไปนี้ 2.1 ใช้ข้าวพันธุ์ค่อนข้างต้านทานโรค

– ภาคกลาง เช่น สุพรรณบุรี 1 สุพรรณบุรี 60 ชัยนาท 1 ปราจีนบุรี 1 พลายงาม และข้าวเจ้าหอม พิษณุโลก 1 เป็นนต้น

– ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ข้าวเจ้าหอมพิษณุโลก 1 สุรินทร์ 1 เหนียวอุบล 2 สันปาตอง 1 หางยี 71 กู้เมืองหลวง ขาวโป่งไคร้ น้ํารู และ กข33 เป็นต้น

– ภาคใต้ เช่น ดอกพะยอม และ กข55 เป็นต้น

ข้อควรระวัง : ข้าวพันธุ์สุพรรณบุรี 1 สุพรรณบุรี 60 และชัยนาท 1 ที่ปลูกในภาคเหนือตอนล่าง พบว่าแสดงอาการรุนแรงในบางพื้นที่และบางปี โดยเฉพาะเมื่อสภาพแวดล้อมเอื้ออํานวย เช่น ฝนพรำ มีหมอก น้ำค้างจัด อากาศเย็น ใส่ปุ๋ยมากเกินความจําเป็นน หรือเป็นดินหลังน้ำท่วม เป็นต้น

2.2 หว่านเมล็ดพันธุ์ในอัตราที่เหมาะสม คือ 15-20 กิโลกรัมต่อไร่ ควรแบ่งแปลงให้มีการระบายอากาศ ที่ดี และไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนสูงเกินไป ถ้าสูงถึง 50 กิโลกรัมต่อไร่ โรคไหม้จะพัฒนาอย่างรวดเร็ว

2.3 คลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันกําจัดเชื้อรา เช่น ไตรไซคลาโซล คาซูกาไมซิน ตามอัตราที่ระบุ