อธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่เร่งรัดและติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ จ.หนองคาย และ จ.บึงกาฬ

0
7983

วันนี้ (20 สิงหาคม 2563) เวลา 13.00 น. ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นายสุชาติ เจริญศรี รองอธิบดีกรมชลประทาน นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) นายจารึก วัฒนาโกศัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 5 และนายประสาน พฤกษชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 7 พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จังหวัดหนองคาย โดยมีนายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ นำเสนอภาพรวมความก้าวหน้า และ นายสมพร อารยชาติสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 3 รายงานผลการดำเนินงานองค์ประกอบโครงการด้านต่างๆ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 ที่กรมชลประทานได้เริ่มดำเนินการ สำรวจและออกแบบพร้อมทั้งเริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว


โดยโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จังหวัดหนองคาย มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาอุทกภัยในเขตจังหวัดหนองคายและจังหวัดอุดรธานี ประกอบด้วย 5 งานคือ 1.งานสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง 2.งานพนังกั้นน้ำช่วงที่ตลิ่งต่ำตามแนวลำห้วยหลวง ยาว 47 กิโลเมตร กำหนดระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2566 3.งานอาคารบังคับน้ำตามลำน้ำห้วยหลวงและลำน้ำสาขา 15 แห่ง 4.งานระบบชลประทาน ครอบคลุมพื้นที่ 315,195 ไร่ และ 5.ระบบควบคุมอุทกภัยอัจฉริยะ (Smart Flood Control System) ผลงานความก้าวหน้าโครงการร้อยละ 2.77 จากระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2562-2569

เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานเดิม 15,000 ไร่ และเพิ่มพื้นที่
ชลประทานใหม่อีก 300,195 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 284 หมู่บ้าน 37 ตำบล 7 อำเภอ ของจังหวัดหนองคายและจังหวัดอุดรธานี รวม 29,835 ครัวเรือน เป็นแลนด์มาร์คที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดหนองคาย รวมทั้งยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อขยายพื้นที่ชลประทานในพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย


ในการนี้ นายประชา เกษลี ผู้อำนวยการโครงการชลประทานบึงกาฬ ได้รายงานโครงการบรรเทาอุทกภัย อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งประกอบด้วย 5 องค์ประกอบในการพัฒนา คือ 1.กิจกรรมประตูระบายน้ำห้วยกำแพง 2.กิจกรรมระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมศูนย์ราชการจังหวัดบึงกาฬ 3.กิจกรรมปรับปรุงฝายน้ำล้นห้วยกำแพง 4.กิจกรรมปรับปรุงท่อลอดบริเวณหนองเบ็น และ 5.กิจกรรมพัฒนาระบบชลประทานรอบหนองกุดทิง แผนงานโครงการจะเริ่มในปี 2564 แล้วเสร็จ ปี 2565 ทั้งนี้เมื่อกิจกรรมต่างๆ ดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยบรรเทาอุทกภัยแก่พื้นที่รอบหนองกุดทิง ศูนย์ราชการจังหวัดบึงกาฬ พื้นที่หน่วยงานราชการ พื้นที่เกษตรกรรมนาข้าวและพืชไร่ ราษฎรจำนวน 3 ตำบล 17 หมู่บ้าน มีน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค