อธิบดีกรมชลประทาน เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 3/2563

0
6216

วันนี้ (30 เมษายน 2563) ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ และนายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 3/2563 โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล

ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EA และ EHIA) โครงการด้านคมนาคม เหมืองแร่ และพัฒนาแหล่งน้ำ รวมจำนวน 4 โครงการ โดยในส่วนของกรมชลประทานนั้น ได้รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับ โครงการ กิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อ ทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง (EHIA) พร้อมรายการความก้าวหน้า จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นโครงการเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ สำหรับอุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม และบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี และใกล้เคียง รวมทั้งสนับสนุนให้กับEEC ด้วย โดยในที่ประชุมได้มีการหารือและให้เจ้าของโครงการ ดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งนำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป

สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี เป็น 1 ใน 4 โครงการในลำน้ำย่อยของลุ่มน้ำโตนด ซึ่งประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำคลองประแกด อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว และอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด โดยในพื้นที่มักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเป็นประจำทุกปี กรมชลประทานจึงได้ดำเนินการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ดำเนินการศึกษาจัดทำแผนหลักในการพัฒนาแหล่งน้ำและศึกษาความเหมาะสมโครงการพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี แล้วเสร็จเมื่อปี 2538 ซึ่งผลการศึกษาได้เสนอให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางจำนวน 4 แห่ง ตามลำดับความสำคัญ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองประแกด ก่อสร้างแล้วเสร็จ อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว และอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด

ทั้งนี้เมื่อโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี แล้วเสร็จ จะสามารถเป็นแหล่งน้ำต้นทุน เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 87,700 ไร่ เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภคบริโภค ให้กับประชาชนได้กว่า 88,800 คน ครอบคลุม 3 อำเภอ ของจังหวัดจันทบุรี คิดเป็น 4,116 ครัวเรือน รวมถึงเป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับการอุปโภคและบริโภค การท่องเที่ยว เพื่อรองรับแผนยุทธศาสตร์โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 70 ล้าน ลูกบาศก์เมตรต่อปี และยังสามารถชะลอน้ำหลาก และบรรเทาอุกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองโตนด ตลอดจนรักษาระบบนิเวศน์ และผลักดันน้ำเค็มในช่วงฤดูแล้งได้อีกด้วย