ปีนี้คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเผชิญหน้ากับภาวะวิกฤติแล้งหนักสุดในรอบหลายปี จากปริมาณน้ำสะสมที่ต่ำกว่าค่าปกติติดต่อกัน แต่เรื่องนี้ไม่กระทบกับพี่น้องเกษตรกรชาวไร่ชาวสวนที่มีพื้นที่ติดกับฟาร์มเลี้ยงหมูของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เพราะมี “น้ำปุ๋ย” ฟรี ที่แบ่งปันให้เกษตรกรมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 ในโครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร เนื่องจากในฟาร์มสุกรทุกแห่งของซีพีเอฟ จัดแบ่งพื้่นที่ประมาณ 30% เพื่อทำเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่สำหรับเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนของทุกปี และเก็บไว้ใช้ในกิจกรรมต่างๆภายในฟาร์ม จากนั้นได้นำน้ำในกระบวนการผลิตเข้าสู่ระบบบำบัดจนได้น้ำที่ผ่านมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด และน้ำที่มีแร่ธาตุเหมาะกับพืชทุกชนิดนี้แบ่งปันให้กับเกษตรกร
วันนี้ได้ลงพื้นที่เยี่ยมเยือนเกษตรกรที่ได้รับน้ำปุ๋ยจากซีพีเอฟ ทำให้เห็นว่าเกษตรกรทุกคนยังคงยิ้มได้ ไม่ต้องกังวลว่าผลผลิตที่เพาะปลูกจะเสียหายจากการขาดน้ำ ไม่เพียงช่วยบรรเทาปัญหาแล้ง ยังช่วยเพิ่มผลผลิต และเพิ่มรายได้อย่างเป็นรูปธรรม เริ่มจากข้าราชการบำนาญ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนวรลาโภนุสรณ์ ต.หนองปลาบาก อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย สิทธิศักดิ์ คำใบ ที่ผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรที่บ้านเสียว ต.หนองปลาบาก บอกว่า ยินดีและภูมิใจที่ทางซีพีเอฟเล็งเห็นถึงความจำเป็นของพี่น้องเกษตรกรที่ต้องการน้ำใช้ตลอดปี โดยเฉพาะฤดูแล้ง ทางฟาร์มซีพีเอฟหนองคายจึงจัดโครงการดีๆด้วยการมอบน้ำปุ๋ยหมักชีวภาพให้ฟรี สำหรับสวนผสมของตนเอง ปลูกมะนาว ยางพารา มะพร้าวปลูก เมื่อก่อนปลูกผลผลิตไม่งาม ทั้งที่ใส่ปุ๋ยมูลวัว และปุ๋ยอื่นๆ จนเมื่อปี 2563 ได้รู้ว่าซีพีเอฟมีโครงการปันน้ำปุ๋ย ที่เป็นน้ำหมักชีวภาพมาบริการให้กับเกษตรกร จึงขอเป็นตัวแทนเกษตรกรนำร่องใช้ในสวน
หลังจากใช้น้ำปุ๋ยนาพบว่าดินดี พืชงาม โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี อย่างเช่นมะพร้าวน้ำหอมบางทะลายลูกดกถึง 40 กว่าลูก ฤดูแล้งก็ไม่ต้องห่วงเพราะผลผลิตทั้งหมดได้น้ำปุ๋ยหล่อเลี้ยง ช่วยลดต้นทุนได้มาก ลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ถึง 5 กระสอบ ปีนี้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตรที่จำเป็นคือ 15-15-15 แค่กระสอบเดียว นอกนั้นก็ใช้แค่น้ำปุ๋ย พบว่าได้รายได้จากการขายผลผลิตดีมาก อย่างมะพร้าว ปีนี้ได้กำไรกว่า 10,000 บาทแล้วและยังมีมะพร้าวจำหน่ายอีกมาก ส่วนต้นยางก็ใช้น้ำหมักชีวภาพเหมือนกัน สวนยางที่บ้านใช้น้ำประมาณ 10 กว่าคันรถ นาปรัง 7 ไร่ก็ใช้น้ำปุ๋ยนี้ อีกไม่กี่วันก็ได้เวลาเก็บเกี่ยว คาดว่าผลผลิตที่ได้จะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา เพื่อนเกษตรกรแถบนี้ก็ใช้น้ำปุ๋ยจากซีพีเอฟทั้งหมด ทั้งสวนลิ้นจี่ สวนมะม่วง นาปรัง ก็ได้ผลผลิตดี ในฐานะตัวแทนเกษตรกรที่รับน้ำจากฟาร์มซีพีเอฟหนองคาย สิทธิศักดิ์ บอกว่ารู้สึกดีใจมาก และขอขอบคุณที่ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกรสมาชิกที่ลงทะเบียนขอรับน้ำฟรีกับฟาร์มกว่า 30 คน
ข้ามฝั่งมาที่ทุ่งนาของ สมัย คำใบ เกษตรกรบ้านเสียว ต.หนองปลาบาก อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ที่นำน้ำปุ๋ยหมักชีวภาพมาใช้ในนาปรัง เล่าว่าเมื่อก่อนต้องใช้ปุ๋ยเคมีไร่ละกระสอบ ราคา 700 บาท หลังจากเปลี่ยนมาใช้น้ำปุ๋ยหมักชีวภาพ 1 ไร่ใช้น้ำ 2,000 ลิตร โดยผสมกับน้ำคลองที่เตรียมไว้สำหรับดึงเข้านา แล้วจึงปล่อยน้ำเข้านาหลังจากหว่านกล้าช่วงที่ต้นกล้าสูงประมาณหนึ่งคืบ พบว่าได้ผลดีมาก ไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมีอีกเลย ต้นกล้าเขียว งามตลอด ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ย 700 บาทต่อไร่ เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ไร่ละ 1 ตัน เท่ากับทั้งลดต้นทุน ได้ผลผลิตเพิ่ม และรายได้ก็มากขึ้นตามไปด้วย
ส่วนที่สองที่นำมาใช้คือสวนยางพารา เมื่อก่อนใช้ปุ๋ยเคมีตลอดไร่ละ 1-2 กระสอบ หลังจากใช้น้ำปุ๋ย 2,000 ลิตรต่อไร่ ที่ขอรับมาใช้ตลอดทั้งปี จึงเลิกใช้เคมีทั้งหมด ทำให้สามารถกรีดยางได้ตลอด จากเมื่อก่อนเริ่มเปิดหน้ายางช่วงฝนของทุกปีแล้วกรีดมาเรื่อยๆจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ก็ต้องพักหน้ายางเพราะน้ำยางไม่มาก แต่หลังจากใช้น้ำปุ๋ยก็ไม่ต้องพักหน้ายางอีกเลย กรีดได้ตลอดปี ต้นยางสมบูรณ์ ปุ๋ยช่วยปรับสภาพหน้าดินทำให้ดินร่วซุย ดีมากๆต้นทุนยางพาราต่ำลง ได้ปริมาณผลผลิตดีขึ้น
ข้ามมาที่บ้านโคกบุญสนอง ต.โพนทอง อ.โพธิ์ตาก จ.หนองคาย พบกับ จงรัก ปกครอง ที่กำลังดูแลสวนมะพร้าว และสวนผสมทั้งแฟง แตง ฟักทอง พริก โดยใช้น้ำปุ๋ยตลอดทั้งปี บอกว่าได้ผลผลิตดีมากเมื่อเทียบกับเมื่อก่อนที่ใช้ปุ๋ยเคมีทั่วไป เดิมต้นทุนค่าใช้จ่ายค่าปุ๋ยค่ายาก็หลักพันถึงหมื่นบาทต่อปี แต่เมื่อหันมาใช้น้ำปุ๋ยต้นทุนการผลิตลดลงมาก ผลผลิตก็เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน คนละอย่างกับที่เคยใช้ปุ๋ยเคมีเลย ดินไม่เสีย ร่วนดี ดินไม่กระด้าง ปลูกพืชได้ดีทุกอย่าง ผลแตกต่างกันมาก อย่างพริกที่ปลูกต้นเตี้ยๆแต่ออกลูกดกมาก ผลผลิตเพิ่ม ฟักแฟงลูกใหญ่ขายได้ราคา เรียกว่าผลผลิตทุกชนิดดีขึ้นมาก ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ขอขอบคุณซีพีเอฟที่แบ่งปันน้ำใจ มอบน้ำปุ๋ยชั้นดีให้กับเกษตรกร
ส่วน เกษตรกรชาว ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ สิงห์คำ เคียงปัญญา ซึ่งเป็นหนึ่งในเกษตรกรกว่า 40 รายที่ร่วมโครงการน้ำปุ๋ยสู่ชุมชนกับฟาร์มเลี้ยงหมูจอมทอง บอกว่า ปกติซีพีเอฟจะมีระบบใช้น้ำหมุนเวียนภายในฟาร์ม ไม่ปล่อยน้ำออกสู่ภายนอก แต่เกษตรกรในพื้นที่รอบข้างสังเกตว่าในฟาร์มต้นไม้เขียวชอุ่มแม้ในช่วงแล้ง จึงรู้ว่าในฟาร์มมีน้ำปุ๋ยที่แร่ธาตุเหมาะสมกับต้นพืช จึงขอนำน้ำดังกล่าวมาใช้กับต้นพืชพบว่าผลลัพธ์ดีกว่าที่คิด จึงขอน้ำปุ๋ยมาใช้ตลอดปี โดยเฉพาะในฤดูแล้ง อย่างเช่นขอใช้น้ำมาตั้งแต่ปี 2546 ถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลากว่า 14 ปี สำหรับการปลูกข้าวโพด 6 ไร่ เมื่อก่อนเมื่อเข้าฤดูแล้งเกษตรกรมีปัญหามาก เพราะน้ำไม่เพียงพอสำหรับเพาะปลูก จนได้สูบน้ำปุ๋ยจากฟาร์มไปใช้โดยตรง ปริมาณ 12,000 ลูกบาสก์เมตรต่อรอบการปลูก ปลูกได้ 2 รอบต่อปี น้ำปุ๋ยดีต่อพืชและทำให้ดินอุดมไปด้วยแร่ธาตุ ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากก่อนการใช้น้ำปุ๋ยได้ข้าวโพด 1,500 ตันต่อรอบการปลูก เพิ่มเป็น 2,500 ตันต่อรอบ คิดเป็นผลผลิตที่เพิ่มขึ้นเกือบ 70% ช่วยลดค่าปุ๋ยเคมีจากเดิมใช้ไร่ละ 300 กิโลกรัม หลังจากใช้น้ำปุ๋ยก็แทบไม่ต้องใช้ปุ๋ยเลย หรือใช้มากที่สุดเพียง 100 กิโลกรัมต่อไร่ ขอขอบคุณฟาร์มจอมทองที่แบ่งปันน้ำปุ๋ยให้เกษตรกรรอบฟาร์มมาตลอด ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง
ฟากฝั่ง ยุพิน อะตะมะ ที่รับน้ำปุ๋ยมาตั้งแต่ปี 2561 สำหรับรดต้นข้าวโพดหวาน 2 ไร่ และผักสวนครัว 1 ไร่ เล่าว่า น้ำปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนและฟอสฟอรัสสูง กลายเป็นปุ๋ยชั้นดี จนเธอเรียกว่า “น้ำทิพย์” เพราะตั้งแต่ใช้น้ำปุ๋ยก็ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีอีก สภาพดินก็ดีขึ้น พืชผลที่ปลูกงอกงามดี ข้าวโพดหวานผลผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่า 60% การปันน้ำให้เกษตรกรได้นำมาใช้ทำให้สามารถเพราะปลูกได้ตลอดทั้งปี มีรายได้จากการปลูกผักในทุกๆวัน ฤดูแล้งก็ไม่ต้องกังวลว่าผลผลิตจะเสียหาย ขอขอบคุณซีพีเอฟที่ช่วยเหลือเกษตรกรมาตลอด
แล้งนี้หรือแล้งไหนๆ เกษตรกรจึงไม่แล้งน้ำ โดยเฉพาะน้ำใจจากซีพีเอฟ ทำให้เกษตรกรรอบฟาร์มเลี้ยงหมูที่ได้รับ “น้ำปุ๋ย” สามารถผ่านวิกฤติแล้ง ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ต้นทุนจึงลดลง ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ช่วยสร้างรายได้ที่ยั่งยืน