เกษตรกรเลี้ยงหมูตรม พิษ PRRS ทำต้นทุนสูงเกินแบก

0
8038

แทนที่ปีนี้จะเป็นปีดีของคนเลี้ยงหมู เพราะเมื่อมองทั่วภูมิภาคเอเชียแล้วไม่มีประเทศไหนโดดเด่นเท่าไทย ทั้งเรื่องการป้องกันโรคสำคัญในหมูอย่างโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือ ASF ได้อย่างน่าภูมิใจ รวมถึงความสามารถในการป้องกันโควิด-19 จนเป็นที่ยอมรับในระดับโลก

แต่จนแล้วจนรอดกลไกตลาดยังถูกขึงพืด หมูเป็นยังขายได้ไม่เกิน 80 บาท แถมต้องเจอเคราะห์ซ้ำ กับโรคเพิร์ส (PRRS) ที่เป็นอีกโรคร้ายแรงในหมู ซึ่งไม่ติดต่อหรือเป็นอันตรายกับคน จนหมูหายไปจำนวนมาก โดยเฉพาะในภาคเหนือตอนบนทั้ง 8 จังหวัด มีการระบาดของโรคนี้ครบทุกจังหวัดแล้ว ทำให้ต้องทำลายหมูทั้งในฟาร์มที่เกิดโรคเองและฟาร์มอื่นๆ ในรัศมี 1-5 กิโลเมตร เพื่อควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัด ตามมาตรฐานของกรมปศุสัตว์

จากการลงพื้นที่ของผู้สื่อข่าวและได้พูดคุยกับ สุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ และประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรเชียงใหม่-ลำพูน บอกว่า โรค PRRS มีการระบาดได้ง่ายโดยเฉพาะในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง และถือเป็นโรคที่สำคัญในหมู เพราะไม่มียารักษา เกษตรกรทำได้เพียงใส่ใจในการดูแลฝูงสัตว์ และดำเนินการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด หากมีหมูเป็นโรคก็รักษาตามอาการเท่านั้น

ปัจจุบันพบว่ามีเกษตรกรรายย่อยที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรเชียงใหม่-ลำพูน จากทั้งหมด 90 ราย มีเกษตรกรมากถึง 70 ราย ที่ต้องหยุดการเลี้ยงหมูไปจากปัญหา PRRS ทั้งที่พบการเกิดโรคภายในฟาร์ม และบางส่วนที่หวั่นเกรงว่าจะเกิดปัญหากับฟาร์มตนเอง จึงตัดสินใจหยุดเลี้ยงหมูไปก่อนเพื่อรอดูสถานการณ์ ทำให้ปริมาณผลผลิตสุกรในกลุ่มฯ หายไปถึงเกือบ 80% ประกอบกับข้อกำหนดเรื่องการห้ามจำหน่ายสุกรข้ามเขต ทำให้ในบางพื้นที่เริ่มเกิดปัญหาขาดแคลนสุกรแล้ว

วันนี้ต้องยอมรับว่า PRRS เป็นปัญหาใหญ่ที่เกษตรกรต้องเผชิญ จากก่อนหน้านี้ที่เกษตรกรต้องแบกรับภาระเรื่องการป้องกัน ASF เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมหมูทั้งประเทศ จากโรคนี้ที่แพร่ระบาดอยู่รอบบ้านเรา ทั้งจีน เวียนนาม กัมพูชา และเมียนมา แต่เกษตรกรไทยก็ยังสามารถป้องกัน ASF ได้อย่างเข้มแข็งจนเป็นประเทศเดียวที่ปลอดจากโรคนี้ได้จนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะต้องมีภาระค่าใช้จ่ายการป้องกันโรคที่กลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นถึง 100 บาทต่อตัวก็ตาม แต่เกษตรกรก็ยอมจ่าย เพื่อประคับประคองอาชีพไว้ ไม่ให้กระทบกับผู้บริโภคซ้ำรอยประเทศอื่นๆที่ปริมาณหมูหายไปจากปัญหานี้ จนหมูราคาแพงขึ้นหลายเท่าตัว

แต่เวลานี้เกษตรกรกลับต้องมีทุกข์หนัก เพราะปัญหา PRRS มาซ้ำเติมจนต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมาอีกกว่าตัวละ 100 บาท จากการป้องกันโรคที่เข้มงวดขึ้น เท่ากับว่าคนเลี้ยงมีต้นทุนการป้องกันโรคเพิ่มถึงตัวละ 200 บาท ยังไม่นับต้นทุนค่าอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น

ขณะที่การขายหมูเป็นหน้าฟาร์มยังถูกตรึงราคาไว้ที่ไม่เกิน 80 บาท ทั้งๆที่หมูในพื้นที่ไม่มีขาย เพราะเกษตรกรต้องเลิกเลี้ยง หรือพักเล้ารอสถานการณ์ ส่วนการบริโภคยังคงมีต่อเนื่องไม่ได้ลดลง

เมื่อการป้องกันโรคที่ต้องได้มาตรฐานตามที่ภาครัฐกำหนด ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มขึ้น แต่ราคากลับขยับไม่ได้ เกษตรกรหลายรายจึงเริ่มพิจารณาหยุดเลี้ยงหมู เพราะวิตกกับภาวะโรคที่ไม่สามารถคาดเดาได้

สิ่งที่เกษตรกรทุกคนหวังคือ การปลดล็อกกลไกตลาด ให้เป็นไปตามอุปสงค์อุปทานที่แท้จริง ขอให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าใจปัญหาและช่วยเหลือเกษตกรเหมือนหัวเรือใหญ่อย่าง จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้ความสำคัญกับการยกระดับราคาสินค้าเกษตร และเข้าใจในหลักการตลาด การสร้างแบรนด์ และกลไกตลาดสินค้าเกษตร

ล่าสุดดัน “ปลากะพง 3 น้ำ” ของดีจ.สงขลา ให้เป็นที่รู้จักและสร้างมูลค่า จากปกติราคาขายตามท้องตลาดกิโลกรัมละ 150 บาท ก็นำปลาคุณภาพดีมาจัดประมูล จนสามารถอัพราคาขึ้นไปได้ถึงตัวละกว่าครึ่งแสน กลายเป็นปลากะพงที่ราคาแพงที่สุดในไทย และน่าจะแพงที่สุดในโลก นี่คือการมองข้ามช้อตของ รมว.พาณิชย์ ที่สะท้อนความ “เข้าใจ” ในอาชีพเกษตรกร ที่มีคุณค่า และควรมีรายได้ที่สูงขึ้น

คนเลี้ยงหมูยังหวังให้แนวทางของ รมว.พาณิชย์ กลายเป็นแนวทางการแก้ปัญหา และยกระดับวงการหมูเช่นเดียวกัน เพื่อไม่ให้อาชีพเลี้ยงหมูต้องล้มหายตายจาก จนสุดท้ายต้องกระทบกับผู้บริโภค ซึ่งเป็นสิ่งที่เกษตรกรไม่อยากให้เกิดขึ้นกับคนไทย