เจ้าพระยาตอนบนลดลงต่อเนื่อง จัดจราจรน้ำเร่งระบายน้ำออกทะเลให้เร็วที่สุด

0
19162

ฝนตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทางตอนบน ส่งผลดีน้ำไหลอ่างเก็บน้ำมากขึ้น ด้านพื้นที่ตอนล่าง ยังเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลอย่างต่อเนื่อง รองรับน้ำทางตอนบนที่จะไหลมาเพิ่มเติมอีกระลอก กรมชลประทาน ใช้ระบบชลประทานจัดจราจรน้ำลดผลกระทบประชาชน

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์สภาพอากาศในระยะนี้ว่า ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ประกอบกับมีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมบริเวณภาคใต้และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคกลางตอนล่าง และภาคใต้ ยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในระยะนี้ไว้ด้วย

สถานการณ์ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่สถานีวัดน้ำท่า C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,546 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที แนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ก่อนไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ซึ่งมีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,766 ลบ.ม./วินาที แนมโน้มเริ่มทรงตัว แต่ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
🔺อ.เมือง จ.สิงห์บุรี ระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ 1 เซนติเมตร (ซม.)
🔺อ.เมือง จ.อ่างทอง ระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ 1 ซม.
🔺อ.บ้านแพรก จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ 2 ซม.
ในขณะที่คลองชัยนาท-ป่าสัก ยังคงการรับน้ำที่ประตูน้ำมโนรมย์ในอัตรา 140 ลบ.ม./วินาที

ด้านลุ่มน้ำป่าสัก เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังคงระบายที่ 580 ลบ.ม./วินาที (เท่ากับวานนี้) แนวโน้มปริมาณน้ำทางตอนบนลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนป่าสักฯ ยังคงมีฝนตกในหลายพื้นที่ ทำให้มีน้ำท่าไหลหลากลงสู่แม่น้ำป่าสัก ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย อาทิ
🔺อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 3 ซม. (ต่ำกว่าตลิ่ง 5.90 เมตร)
🔺อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 7 ซม. (ต่ำกว่าตลิ่ง 7.08 เมตร)
🔺อ.เมืองสระบุรี ระดับน้ำเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้น 5 ซม. (ต่ำกว่าตลิ่ง 1.42 เมตร)
🔺อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 7 ซม. (ยังต่ำกว่าตลิ่ง 0.28 เมตร)

ด้านเขื่อนพระรามหก ได้ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่าน 746 ลบ.ม./วินาที พร้อมกับปรับการรับน้ำเข้าคลองระพีพัฒน์ตามศักยภาพของคลอง โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ริมคลอง ทั้งยังช่วยแบ่งเบาปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าสู่ จ.พระนครศรีอยุธยา ให้มากที่สุด

ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะใช้ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งในพื้นที่ตอนล่าง เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด โดยฝั่งตะวันออกจะรับน้ำส่วนหนึ่งผ่านคลองแนวตั้งต่างๆ ระบายลงสู่ทะเลอ่าวไทย อีกส่วนหนึ่งจะผันน้ำผ่านคลองเชื่อมต่างๆระบายน้ำออกไปทางแม่น้ำนครนายก แม่น้ำบางปะกง และทะเลอ่าวไทยตามลำดับ ส่วนทางด้านฝั่งตะวันตก จะใช้คลองระบายน้ำต่างๆในการเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลเช่นกัน นอกจากนี้ ในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ยังใช้ปตร.คลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เร่งระบายน้ำในช่วงน้ำทะเลลงอีกด้วย การดำเนินการทั้งหมดจะช่วยบรรเทาและลดผลกระทบต่อประชาชน

หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อสอบถามไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา