เฉลิมชัย ย้ำ!!กรมชลฯ จัดการน้ำเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต้องมีน้ำเพียงพอใช้ทุกภาคส่วน

0
5240

“ เฉลิมชัย” สั่งกรมชลประทานผันน้ำจากจังหวัดจันทบุรีเสริมพื้นที่ EEC เหตุปีที่ผ่านมาฝนน้อย ปริมาตรน้ำเก็บกักต่ำ ย้ำเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต้องมีน้ำเพียงพอใช้ทุกภาคส่วน ด้านกรมชลประทานลงนามบันทึกความเข้าใจกับกลุ่มผู้ใช้น้ำในจ. จันทบุรี ขอปันน้ำเฉพาะกิจ เสริมน้ำต้นทุนให้ถึงเดือนตุลาคมกรณีฝนทิ้งช่วง

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีห่วงใยปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรีซึ่งมีการใช้น้ำหลายภาคส่วนทั้งอุปโภค-บริโภค เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการท่องเที่ยวจึงมอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ กำหนดมาตรการให้มีน้ำเพียงพอใช้อย่างต่อเนื่อง โดยนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานรายงานว่า ในช่วงฤดูแล้งปี 62\63 ปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ภาคตะวันออกต่ำกว่าเกณฑ์ปกติรอบ 30 ปีทำให้น้ำต้นทุนมีน้อยกว่าปี ขณะนี้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนช่วยกันแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในระยะเร่งด่วนได้แก่ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และบริษัท East Water สนับสนุนน้ำเข้ามาเสริมในระบบกว่า 20 ล้าน ลบ.ม. อีกทั้งสถาบันน้ำและพลังงานเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยขอความร่วมมือจากการนิคมอุตสาหกรรมลดการใช้น้ำลงร้อยละ 10 ทำให้แผนบริหารจัดการน้ำที่วางไว้จะมีน้ำเพียงพอถึงวันที่ 30 มิถุนายน แต่ยังคงเกรงว่า หากเกิดฝนทิ้งช่วงดังปีที่แล้วอาจเกิดปัญหาได้ ดังนั้นเพื่อความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญจึงสั่งการให้หาน้ำมาสำรองเพิ่มอีก

ขณะที่นายสุชาติ เจริญศรี รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า กรมชลประทานลงนามข้อตกลง (MOU) กับคณะกรรมการลุ่มน้ำคลองวังโตนด อ. แก่งหางแมว จ. จันทบุรีเพื่อขอปันน้ำเฉพาะกิจ โดยการสูบผันน้ำลงสู่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ. ระยอง โดยจะสูบผันน้ำระหว่างวันที่ 1 – 31 มีนาคม 2563 เพื่อสำรองไว้ในเขต EEC

ทั้งนี้ระบบผันน้ำจากลุ่มน้ำคลองวังโตนด-ประแสร์ตั้งอยู่บริเวณคลองวังโตนด บ้านกังประดู่ อ. แก่งหางแมว จ. จันทบุรี ความยาวท่อ 45.69 กิโลเมตร ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 9 เครื่อง อัตราการสูบเครื่องละ 0.625 ลบ.ม.ต่อวินาที รวม 5 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือวันละประมาณ 432,000 ลบ.ม. ซึ่งจะได้น้ำสำรองเพิ่มอีก 10 ล้าน ลบ.ม. สำหรับระบบผันน้ำระหว่างอ่างเก็บน้ำในเขต EEC ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองค้อ อ่างเก็บน้ำบางพระ และกลุ่มอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 5 แห่งในเมืองพัทยา ความจุรวม 894 ล้าน ลบ.ม. โดยมีระบบท่อผันน้ำเป็นตัวเชื่อมโยงถึงกันเพื่อเชื่อมโยงปริมาณน้ำจากจังหวัดระยองไปยังจังหวัดชลบุรี EEC หากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม น้ำที่ผันมานี้จะทำให้เขต EEC มีน้ำเพียงพอทุกภาคส่วนจนสิ้นสุดฤดูฝน

.

ทั้งนี้ การผันน้ำลุ่มน้ำวังโตนดไปเสริมเขต EEC จะไม่ทำให้จ. จันทบุรีขาดแคลนน้ำแน่นอนเนื่องจากลุ่มน้ำคลองวังโตนดมีปริมาตรน้ำท่ารายปีประมาณ 1,237 ล้าน ลบ.ม. ประกอบด้วยลำน้ำสำคัญ 4 สาขา ได้แก่ คลองหางแมว คลองวังโตนด คลองประแกด และคลองพวาใหญ่ โดยปัจจุบันกรมชลประทานได้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองประแกด ความจุ 60 ล้าน ลบ.ม. เสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนอ่างเก็บน้ำคลองพวาใหญ่ ความจุ 68 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ความจุ 80.7 ล้าน ลบ.ม. อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564 และปี 2565 ตามลำดับ ด้านอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ความจุ 99.5 ล้าน ลบ.ม. อยู่ระหว่างการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) ของคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยจะเริ่มโครงการก่อสร้างในปีงบประมาณ 2564 หากแล้วเสร็จจะทำให้มีน้ำต้นทุนจากอ่างฯ 4 แห่ง รวมกันประมาณ 308.5 ล้าน ลบ.ม.

.

สำหรับกรณีที่การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ไม่สามารถนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรมาใช้ทดแทนน้ำที่ขาดจากอ่างเก็บน้ำบางพระได้นั้น กรมชลประทานจะเร่งขุดลอกคลอง และระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวงฯ มาที่สถานีสูบพานทอง ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตรเพื่อมาเก็บในอ่างเก็บน้ำบางพระ 10 ล้าน ลบ.ม. อีกทั้งบริษัท East water เตรียมสำรองน้ำสระเอกชนเพื่อจ่ายให้ กปภ.ชลบุรี และศรีราชาบางส่วน กปภ. ศรีราชา รับน้ำจากบริษัท East water และจากอ่างหนองค้อวันละ 30,000 ลบ.ม. และ กปภ.พัทยาใช้น้ำจากอ่างหนองปลาไหลวันละ 110,000 ลบ.ม.
“ยืนยันว่า ในภาคตะวันออกโดยเฉพาะจ.ฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรีจะมีน้ำใช้เพียงพออย่างต่อเนื่อง แต่ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพสูงสุด ตามแผนบริหารจัดการน้ำที่วางไว้