เตรียมรับมือหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ เผยพบผีเสื้อติดกับดักจ่อชายแดนไทยแล้ว

กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรฤดูปลูกมะเขือเทศรอบใหม่ให้ระวังหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ หลังพบติดกับดักฟีโรโมนบริเวณช่องทางผ่านแดนไทยกับเพื่อนบ้าน ผลตรวจในห้องปฏิบัติการชี้ชัดเป็นแมลงศัตรูพืชชนิดใหม่ไม่เคยพบในไทย ห่วงแหล่งปลูกและผลิตเมล็ดพันธุ์ภาคเหนือและอีสาน ย้ำต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ

0
2052

เตรียมรับมือหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ

มีรายงานพบผีเสื้อติดกับดักจ่อชายแดนไทยแล้ว

กรมวิชาการเกษตร  เตือนเกษตรกรฤดูปลูกมะเขือเทศรอบใหม่ให้ระวังหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ  หลังพบติดกับดักฟีโรโมนบริเวณช่องทางผ่านแดนไทยกับเพื่อนบ้าน  ผลตรวจในห้องปฏิบัติการชี้ชัดเป็นแมลงศัตรูพืชชนิดใหม่ไม่เคยพบในไทย  ห่วงแหล่งปลูกและผลิตเมล็ดพันธุ์ภาคเหนือและอีสาน  ย้ำต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ

นางสาวเสริมสุข  สลักเพ็ชร์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  ในช่วงที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้เฝ้าระวัง  แจ้งเตือนและสร้างการรับรู้เกี่ยวกับหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ   ซึ่งเป็นแมลงศัตรูพืชสำคัญที่สร้างความเสียหายต่อพืชเศรษฐกิจในหลายประเทศให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เช่น เจ้าของโรงเรือนผลิตกล้ามะเขือเทศ  เกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศทั้งผลสดเพื่อการบริโภคภายในประเทศ  บริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศ  และบริษัทผู้ผลิตมันฝรั่งครอบคลุมพื้นที่ปลูกทั่วประเทศ  ให้หมั่นสำรวจแปลงและตรวจสอบกับดักฟีโรโมนอย่างสม่ำเสมอ   รวมทั้งได้สั่งการพนักงานเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชตามแนวชายแดนให้เข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าที่นำเข้าและหมั่นตรวจกับดักฟีโรโมนที่ได้นำไปติดตั้งไว้บริเวณช่องทางผ่านชายแดน  เพื่อเฝ้าระวังและติดตามอย่างต่อเนื่อง  

สถานการณ์ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้เจ้าหน้าที่สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช   กรมวิชาการเกษตร  ได้สำรวจและตรวจพบผีเสื้อหนอนชอนใบมะเขือเทศติดกับดักฟีโรโมนที่ติดไว้บริเวณช่องทางผ่านแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน  ซึ่งกับดักดังกล่าวจะดึงดูดเฉพาะผีเสื้อหนอนชอนใบมะเขือเทศให้มาติดในกับดัก โดยจากการนำตัวอย่างมาจำแนกชนิดด้วยลักษณะทางสันฐานวิทยา และวิธีการทางชีวโมเลกุลที่มีความทันสมัยตามมาตรฐานสากลนั้น ผลการจำแนกชนิดพบว่าเป็นหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tuta absoluta Meyrick (Lepidoptera: Gelechiidae) ซึ่งเป็นชนิดใหม่ที่ไม่มีในประเทศไทยมาก่อน แต่พบว่าเริ่มมีการแพร่ระบาดอยู่ในแถบประเทศเพื่อนบ้านของไทยแล้ว

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวว่า  นอกจากมะเขือเทศแล้วหนอนชอนใบชนิดนี้ยังเข้าทำลาย พริก มะเขือ และ มันฝรั่ง ได้อีกด้วย   ซึ่งหากพบการระบาดแต่ไม่มีการป้องกันกำจัดจะทำให้ผลผลิตเสียหายได้ถึง 100%  โดยแหล่งปลูกมะเขือเทศของไทยที่ผลิตเพื่อบริโภคสดและเข้าโรงงาน ได้แก่ จังหวัดนครพนม หนองคาย สกลนคร เชียงใหม่ น่าน ลำปาง ส่วนแหล่งผลิตเพื่อทำเมล็ดพันธุ์ใช้ในประเทศและส่งออกได้แก่ จังหวัดขอนแก่น สกลนคร อุดรธานี   พร้อมกันนี้กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมพร้อมรับมือหากมีการแพร่ระบาดของหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศเข้ามาภายในประเทศ  โดยมีคำแนะนำวิธีป้องกันและกำจัดทางวิชาการ ดังนี้

โรงเรือนผลิตกล้ามะเขือเทศ ใช้วัสดุปลูกที่ปราศจากดักแด้ของหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ  ติดตั้งกับดักฟีโรโมนเพื่อดักจับตัวเต็มวัยเพศผู้   หากตรวจพบผีเสื้อหรือการทำลายของหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ ให้ป้องกันกำจัดโดยกับดักฟีโรโมนเพื่อดักจับตัวเต็มวัยเพศผู้ อัตรา 8 กับดักต่อไร่   และใช้สารกำจัดแมลงตามคำแนะนำ คือ สารสไปนีโทแรม 12% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร สารอีมาเมกติน เบนโซเอต 1.92% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร สารคลอร์ฟีนาเพอร์ 10% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร สารลูเฟนนูรอน 5% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร สารอินดอกซาคาร์บ 15% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และ สารคลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

ในแปลงปลูกมะเขือเทศ ให้สำรวจประชากรของผีเสื้อหนอนชอนใบมะเขือเทศด้วยกับดักฟีโรโมนก่อนปลูก 2 สัปดาห์  หลังปลูกหากพบผีเสื้อหรือการทำลายให้ติดกับดักฟีโรโมน อัตรา 10 กับดักต่อไร่ เพื่อดักจับตัวเต็มวัยเพศผู้  และพ่นสารกำจัดแมลงชนิดเดียวกับที่แนะนำให้ใช้ในโรงเรือน พ่นทุก 5-7 วัน ติดต่อกัน 2-3 ครั้ง โดยใช้กลุ่มสารสลับกันอย่างน้อย 2 กลุ่ม ใน 1 รอบวงจรชีวิต (30 วัน) รวมทั้งเว้นระยะไม่ใช้สารกลุ่มเดิมในรอบวงจรชีวิตถัดไป ในช่วงที่เก็บเกี่ยวผลผลิตถ้าพบการระบาดให้พ่นสารชีวภัณฑ์ ได้แก่ เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ทูริงเยนซิส สายพันธุ์เคอร์สตากี้ อัตรา 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร   พร้อมกันนี้ กรมวิชาการเกษตรได้เปิดสายด่วนเฝ้าระวังหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ หากสำรวจพบแปลงมะเขือเทศมีลักษณะการเข้าทำลายดังกล่าวสามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 0-61415 -2517

 

 

#AllnewsExperss #เกษตรกร #หนอนผีเสื้อ #เตือน #กรมวิชาการเกษตร