เร่งเพิ่มซัพพลายหมูเข้าระบบ รัฐต้องเร่งเยียวยา – ฟื้นความเชื่อมั่นเกษตรกร

0
15981

ราคาหมูที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทำนิวไฮในรอบ 10 ปี ถือว่าไม่ใช่เรื่องเกินคาดการณ์ของคนในวงการหมู เพราะต้องยอมรับว่าซัพพลายหมูหายไปจากระบบจริงๆ และเป็นอย่างนี้มาร่วม 3 ปีแล้ว นับจากการเกิดโรคระบาดที่ทำลายหมูรอบบ้านเราแทบทุกประเทศ ไล่มาตั้งแต่จีน เวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และเมียนมา ทำให้เกษตรกรไทยหวั่นวิตก ด้วยความรุนแรงของโรคที่ไม่มีวัคซีนป้องกันและยารักษาที่เฉพาะเจาะจง แม้ว่าในไทยจะยังไม่เกิดโรคนี้ แต่ด้วยสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน คนเลี้ยงต่างทยอยปิดฟาร์ม หรือชะลอการเลี้ยงเพื่อรอดูสถานการณ์ ผนวกกับสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว คนไทยแทบจะไม่จับจ่าย โดยเฉพาะในวิกฤตโควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ราคาหมูจึงตกต่ำอย่างหนัก คนเลี้ยงหมูยิ่งลดลงเพราะภาวะขาดทุนสะสม

แม้จำนวนหมูจะลดลงต่อเนื่อง แต่เพราะคนกินน้อย จึงยังไม่เห็นปัญหา ต่อเมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น ไทยเปิดประเทศ การค้าการขายกลับมาคึกคัก ประกอบกับความต้องการบริโภคเนื้อหมูช่วงเทศกาลปลายปี ขณะที่ปริมาณเนื้อหมูมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงเข้าหลัก “กลไกตลาด” จากผลของอุปสงค์และอุปทาน ทำให้ราคาเนื้อหมูปรับตัวสูงขึ้น ดังที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ว่า หลังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้เกิด “Pent Up Demand” หรือความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการที่ผู้บริโภคต้องการจับจ่ายใช้สอยหลังจากหยุดหรือลดการใช้จ่ายในช่วงก่อนหน้าจากเหตุการณ์โควิด

เมื่อการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากจนผิดปกติ ทำให้ปริมาณหมูที่ผลิตได้เพียง 14 ล้านตัวต่อปี หรือ 40,000 กว่าตัวต่อวัน ซึ่งลดลงไปกว่า 30-40% ไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคที่สูงถึง 50,000 ตัวต่อวัน ราคาจึงปรับเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

เรื่องนี้ภาครัฐได้เร่งดำเนินการแก้ไขแล้ว โดยนายกรัฐมนตรีบัญชาการด้วยตัวเอง สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งดูแลแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง-ปลายทาง “โดยไม่ให้เสียกลไกตลาด” ด้วยมาตรการ 3 ระยะ ทั้ง มาตรการเร่งด่วน : ห้ามส่งออกหมูมีชีวิตชเป็นเวลา 3 เดือน เร่งสำรวจสถานการณ์การผลิต และการช่วยเหลือด้านราคาอาหารสัตว์ โดยเร่งหามาตรการต่างๆ เพื่อช่วยในเรื่องของการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระทบกับผู้เลี้ยงหมู เพื่อให้ต้นทุนการเลี้ยงถูกลง อาทิ ลดภาษี รวมถึงการงดเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ มาตรการระยะสั้น : ส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ขยายกำลังผลิตแม่หมูโดยส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยกลับเข้าระบบ เร่งพัฒนาวิจัยยาและวัคซีนป้องกันโรค มาตรการระยะยาว : กระทรวงเกษตรฯ จะยกระดับมาตรฐานฟาร์มและระบบ Biosecurity ของเกษตรกรเพื่อป้องกันโรค ส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อจูงใจให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงหมูใหม่ เร่งลงทะเบียนเกษตรกรรายย่อยเพื่อให้เข้าถึงการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง

เมื่อถามไปที่ภาคผู้เลี้ยงคิดเห็นอย่างไรกับมาตรการเหล่านี้ วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ บอกว่าเห็นด้วยกับการที่ภาครัฐจะส่งเสริมเกษตรรายย่อยให้กลับเข้าระบบอีกครั้ง แต่ขอให้รัฐเร่งจ่ายเงินชดเชยคงค้างให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการทำลายหมูจากภาวะโรค และกลุ่มที่ได้รับความเสียหายจากเหตุน้ำท่วม เพื่อให้มีเงินทุนในการประกอบอาชีพ พร้อมกับมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยา-ลดหนี้-พักหนี้-พักดอกเบี้ย และช่วยลดต้นทุนการเลี้ยง รวมทั้งปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด เนื่องจากนโยบายการคุมราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มก่อนหน้านี้ ในขณะที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเกษตรกรต้องเผชิญกับโรคหมูหลายโรค เป็นเหตุให้คนเลี้ยงต้องเลิกอาชีพ หลังจากนี้ รัฐบาลต้องมีวิธีจูงใจและฟื้นความเชื่อมั่นให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงหมูเพิ่ม เพื่อเร่งผลักดันซัพพลายหมูเข้าระบบให้เร็วที่สุด

สิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แสดงความเห็นเรื่องการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคในหมูว่า นอกจากกรมปศุสัตว์แล้ว ควรจะเปิดกว้างให้สถาบันการศึกษาและภาคบริษัทที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมพัฒนาเพราะมีองค์ความรู้และความพร้อมอยู่แล้ว นอกจากนี้ ควรสนับสนุนสินเชื่อแก่ภาคเกษตรเพื่อเร่งฟื้นฟูอาชีพและเสริมสภาพคล่อง ตลอดจนพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตร ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ อาทิ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เหมือนอย่างในอดีตที่ธนาคารเคยกำหนดการปล่อยสินเชื่อแก่เกษตรกร และควรลดอัตราภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองจาก 2% เหลือ 0% เพราะไทยต้องนำเข้ากากถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงได้เป็นอย่างมาก ขณะที่ผู้เลี้ยงภาคเหนือ สุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ บอกว่าต้องสร้างแรงจูงใจและสร้างความมั่นใจด้วยการประกันภัย กรณีที่กลับมาเลี้ยงใหม่แล้วเกิดความเสียหาย จะต้องมีการชดเชยในทันที และเสนอให้ภาครัฐยกเลิกการกำหนดราคาทั้งหมูเป็นและหมูชำแหละ เพื่อปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดและเกิดการแข่งขัน โดยคาดว่าสถานการณ์หมูจะกลับสู่ภาวะปกติได้ภายใน 6-12 เดือน หากรัฐส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยอย่างจริงจัง

สอดคล้องกับ นักวิชาการสายวัตถุดิบอาหารสัตว์ ธนา วรพจน์วิสิทธิ์ ให้ความเห็นว่าปัจจัยด้านวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีราคาสูงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสัตว์สูงขึ้นถึง 30-40% ถือเป็นอุปสรรคสำคัญของคนเลี้ยงสัตว์ที่รัฐควรเร่งแก้ปัญหา เช่น ยกเลิกภาษีนำเข้าถั่วเหลืองและกากถั่ว และการวางเพดานราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่ให้สูงกว่าตลาดโลก พร้อมทั้งทบทวนมาตรการต่างๆที่สร้างภาระต่อเนื่องให้ผู้เลี้ยง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรได้

เรื่องนี้ผู้บริโภคเองก็ช่วยได้เช่นกัน เพราะต้องไม่ลืมว่ายังมีทางเลือกในการบริโภคอาหารโปรตีนอื่นๆทดแทนเนื้อหมูอีกมากมาย เช่น เนื้อไก่ที่เป็นอาหารทดแทนกันได้อยู่แล้ว ซึ่งราคาถูกกว่าหมูถึง 3 เท่า รวมทั้งปลา ไข่ไก่ เนื้อ กุ้ง หรือโปรตีนธรรมชาติที่มีให้เลือกหลากหลาย ช่วงนี้เว้นหมูไปก่อน ถ้าคิดว่าราคาสูง นอกจากจะช่วยลดรายจ่ายในกระเป๋า ยังเป็นการกระจายรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน แบบนี้ก็ Win-Win ทุกฝ่าย