เส้นทางไข่ไก่…กว่าจะถึงมือผู้บริโภค

0
6101

ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา “ไข่ไก่” ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เรียกได้ว่าเป็นกระแสไข่ไก่ที่ร้อนแรงที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุของเรื่องทั้งหมดสรุปได้ 2 ประเด็นหลักคือ ภาวะตื่นตระหนก (Panic) ของผู้บริโภคจากการออกพรก.ฉุกเฉินของรัฐบาล จึงเกิดการกักตุนของกินของใช้เพราะไม่รู้ว่าเหตุการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติวันไหน อาหารสำคัญที่ทุกบ้านนึกถึงคือ ไข่ไก่ที่ทั้งราคาถูกและเก็บได้นานกว่าโปรตีนชนิดอื่น ขณะเดียวกันภาวะเช่นนี้ก็เข้าทางคนที่เห็นโอกาสจึงรีบกว้านซื้อไข่ไก่มากักตุนไว้ เพื่อเตรียมปล่อยของตอนที่สินค้าขาดแคลนมากๆหวังเก็งกำไร สองปัจจัยนี้กลายเป็นความต้องการของตลาดที่เกิดขึ้นแบบฉับพลันทันทีโดยเพิ่มขึ้นมากถึง 3-5 เท่าตัวจากปกติ

สวนทางกับปริมาณไข่ไก่ที่ป้อนสู่ตลาดได้วันละ 40-41 ฟองเท่าเดิม จึงเกิดภาวะไข่ไก่ขาดตลาด ชนิดที่ว่าคนในวงการไข่ไก่เองแทบไม่ทันตั้งตัว เพราะวิกฤตที่ผ่านๆมาก็ไม่เคยส่งผลกระทบรุนแรงขนาดนี้

ทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องรีบออกมาจัดการแก้ไขสถานการณ์อย่างเร่งด่วน ทั้งการที่กระทรวงพาณิชย์สั่งชะลอการส่งออกไข่ไก่ออกไปถึง 30 เมษายน พร้อมเร่งจับกุมผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 โดยดำเนินคดีกับผู้ทำผิดแล้ว 24 รายทั่วประเทศ ขณะเดียวกันกระทรวงเกษตรฯ ก็ขอให้เกษตรกรยืดอายุการเลี้ยงแม่ไก่ไข่ออกไปจากเดิม 80 สัปดาห์ ออกไปตามความเหมาะสมในสภาวะที่ขาดแคลนนี้ เพื่อไม่ให้ปริมาณไข่ไก่ที่ออกสู่ตลาดลดลง เพราะแม่ไก่แก่จะให้ไข่ในปริมาณมากกว่าไก่สาว ทำให้สถานการณ์เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ มีไข่เข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น และปัญหาการขายไข่ราคาสูงเกินจริงก็ลดลง

อย่างไรก็ตามต้องทำความเข้าใจก่อนว่าไข่ไก่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ หรือคอมโมดิตี้ (Commodities) ที่ราคาแปรผันขึ้นอยู่กับอุปสงค์ (Demand) – อุปทาน (Supply) จากความต้องการบริโภคกับปริมาณผลผลิตที่ไม่สมดุลกัน แต่ไข่ไก่เป็นสินค้าที่เก็บรักษาได้ไม่นานเพราะมีอายุจัดเก็บ หากเก็บไว้นานก็เน่าเสีย การกักตุนจึงเกิดเพียงระยะสั้นๆ จากความกังวลที่เกิดขึ้น วันนี้เมื่อสถานการณ์ชัดเจน คนเริ่มปรับตัวได้ การบริโภคไข่ก็กลับสู่ภาวะปกติ ที่น่ากลัวต่อจากนี้กลับเป็นภาวะไข่ล้นตลาดที่อาจเกิดขึ้นจากมาตรการข้างต้น ถึงเวลานั้นคนที่ต้องรับกรรมคงหนีไม่พ้นเกษตรกรที่ต้องกลับสู่ภาวะจำยอมต้องแบกรับภาระขาดทุนเหมือน 10 ปีที่ผ่านมา

บางคนอาจมีคำถามว่าไข่ไก่ที่เราซื้อหากันทุกวันนี้มีที่มาอย่างไร ทำไมจากราคาหน้าร้านขายไข่ถึงได้เพิ่มขึ้นจากหน้าฟาร์มที่เกษตรกรขายได้ฟองละ 2.80-3 บาท ตามที่ตกลงกับกระทรวงพาณิชย์ และเป็นไปตามประกาศราคาแนะนำจากสมาคมผู้ผลิตผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ ที่เป็นราคากลางใช้อ้างอิงในขาย

ตรงนี้ต้องมาเจาะลึกให้เห็นวงจรการค้าไข่ที่มีซัพพลายเชนยาว (ดังแผนภูมิ) มีกระบวนการและคนกลางหลายขั้น มีผู้เกี่ยวข้องหลายระดับตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ ผู้รวบรรวมไข่ หรือล้งไข่ ยี่ปั่ว ซาปั่ว ผู้ค้าปลีก ไปจนถึงร้านขายของชำหรือตามตลาดสดในหมู่บ้าน ซึ่งแต่ละขั้นมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งสิ้น
(รูปวงจรการค้าไข่ไก่)

ไล่เรียงตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ ที่ต้นทุนการเลี้ยงในแต่ละช่วงเวลาจะแปรผันตามปัจจัยต่างๆ เช่น ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ภาวะโรค ปริมาณการเลี้ยงแม่พันธุ์ ปัญหาสภาพอากาศและภัยแล้ง ดังเช่นวันนี้ที่ภัยแล้งทำให้เกษตรกรต้องซื้อน้ำใช้ในฟาร์ม และยังต้องใช้ไฟเปิดสปริงค์เกอร์พ่นน้ำลดความร้อน และเปิดระบบทำความเย็นอีแวปตลอดเวลาทำให้มีค่าน้ำค่าไฟที่เพิ่มขึ้นประมาณ 5-10 สตางค์ต่อฟอง แต่ถึงแม้จะมีต้นทุนสูงขึ้น ราคาไข่คละหน้าฟาร์มก็ต้องไม่เกินฟองละ 3 บาทอยู่ดี

หลังจากเกษตรกรผลิตไข่ไก่ได้แล้ว จากนั้นก็จะมีผู้รวบรวมไข่รายใหญ่ หรือล้งไข่ เป็นคนรับซื้อไข่จากเกษตรกรแบบเหมาหมด เพื่อนำเข้าขั้นตอนการแยกไข่บุบ ไข่ร้าว ไข่แตกออกมาก่อน ส่วนนี้จะนำไปขายในราคาถูกกว่าไข่ที่สมบูรณ์ ที่ถูกนำเข้าเครื่องคัดขนาด แบ่งออกเป็น 8 ขนาด คือ จัมโบ้-0-1-2-3-4-5-6 ที่ล้งใหญ่นี้ จะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นทั้งค่าแรงกับค่าขนส่งจากฟาร์มมาล้ง ค่าใช้จ่ายการคัด ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแรงงาน ค่าถาดไข่ และค่าเสียหายระหว่างคัดหากเกิดการบุบแตก จากนั้นจึงขนไปยังล้งที่ 2 ซึ่งจะมีค่าขนส่งและมีค่าแรงการขนเกิดขึ้นอีกครั้ง

สำหรับล้งไข่ลำดับที่ 2 ส่วนใหญ่เป็นร้านขายใหญ่ที่คอยกระจายไข่ในพื้นที่ ซึ่งจะทำแบบซื้อมาขายไป แล้วจึงไปถึงผู้ค้าไข่ที่รับไข่ครั้งละ 100-200 แผง เพื่อไปขายต่อให้กับแม่ค้าปลีกในตลาดหรือร้านค้าย่อยที่รับไข่ไปขายคราวละ 10-20 แผง จากจุดนี้อาจมีแผงค้าในตลาดนัดหรือร้านค้าในหมู่บ้านมารับไปขายให้ผู้บริโภคต่อไป ซึ่งตรงนี้ก็จะมีค่าบริหารจัดการ เช่น ค่าเช่าแผง ค่าอุปกรณ์การขาย ฯลฯ ทั้งหมดทำให้เห็นว่าทุกจุดมีค่าดำเนินการ

จากวงจรค้าไข่ไก่ที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า ประโยชน์ทั้งหมดไม่ได้ตกที่เกษตรกรที่เป็นผู้ผลิต และต่อจากนี้เกษตรกรก็ต้องแบกรับภาระขาดทุนต่อไป และคงต้องยกให้เป็นหน้าที่ของ “คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือเอ้กบอร์ด” ที่ต้องเข้ามาดูแลภาพรวมของอุตสาหกรรมไข่ เร่งหามาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ ดังเช่นที่เคยทำสำเร็จมาแล้วอีกครั้ง