แก้ปัญหา “ปลาหมอคางดำ” อย่าลืม!! พิสูจน์ 11 บริษัทส่งออก ขบวนการลักลอบนำเข้า

0
63398

ขณะนี้หลายฝ่ายยังคงตั้งข้อสงสัย ในเรื่อง ต้นตอปลาหมอคางดำ ยิ่งการที่ NGO รายหนึ่งล็อกเป้าไปที่บริษัทเอกชนที่ได้ขออนุญาตนำเข้าอย่างถูกต้อง แม้จะมีการชี้แจงข้อเท็จจริงหลายครั้งก็ไม่รับฟัง ตรงข้ามกับคำกล่าวอ้างจากของ 11 บริษัทส่งออกปลาหมอคางดำ ที่บอกว่า เป็นเจ้าหน้าที่ชิปปิ้งทำการกรอกข้อมูลผิด กลับเชื่อได้ในทันที ทั้งที่ยังคงเต็มไปด้วยข้อสงสัยมากมาย ว่ามีการกรอกชื่อผิดได้อย่างไรตลอด 4 ปี แล้วประเทศปลายทางรับปลาที่พิจารณาจากชื่อ วิทยาศาสตร์และชื่อสามัญเป็นหลัก เมื่อชื่อไม่ถูกต้องแล้วยอมรับสินค้านั้นได้อย่างไร

ขณะที่หน่วยงานรัฐ ผู้รับผิดชอบโดยตรงที่บอกว่า มีการตรวจสอบแล้วในปี 2560 พบว่า เจ้าหน้าที่ชิปปิ้งกรอกชื่อผิด ยิ่งน่าแปลกใจว่า เหตุใดจึงไม่แก้ไข หรือไม่มีข้อสงสัยหรือว่าปลาที่ส่งออกนั้นเป็นปลาอะไรกันแน่ เพราะขณะนั้นมีการเปลี่ยนชื่อหลายครั้งจนเกิดความสับสน และปล่อยให้เอกสารการส่งออกไม่ตรงกันได้อย่างไร หากเป็นเช่นนี้ถือว่า เป็นการส่งออกไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และเคยสงสัยบ้างหรือไม่ว่า บริษัทส่งออกเหล่านั้น เอาปลามาจากที่ไหน ได้ทำตาม พรก.ประมง ปี 2558 ที่ระบุว่า ผู้ส่งออกต้องแจ้งแหล่งที่มา แล้วหน่วยงานได้รับข้อมูลนั้นหรือไม่ หรือได้มีการไปตรวจสอบบ้างไหม

แม้ว่าบริษัทผู้ส่งออก มีการส่งตัวแทนไปชี้แจงกับคณะกรรมการธิการฯ แล้ว ก็ควรแสดงความบริสุทธิใจด้วยการชี้แจงอย่างละเอียดว่า เหตุใดจึงปล่อยให้เจ้าหน้าที่ชิปปิ้งกรอกข้อมูลผิดมาตลอด 4 ปี แล้วถ้าชื่อในเอกสารผิดแล้วส่งออกไปอย่างไร ประเทศปลายทางรับสินค้าได้อย่างไร หรือเป็นวิธีหลบเลี่ยงการขออนุญาต เพื่อให้ส่งออกได้ง่ายขึ้น ตามที่ NGO รายเดิมได้อ้างถึงหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนี้ เรียกได้ว่า เป็นการขออนุญาตที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ และเชื่อได้อย่างไรว่า ปลาที่ส่งออกไปไม่ใช่ปลาหมอคางดำ เมื่อไม่มีการส่งออกแล้ว ปลาเหล่านั้นไปไหน มีการทำลายอย่างถูกต้องตามมาตรฐานหรือไม่

วันนี้ บริษัทผู้ส่งออกปลาหมอคางดำ ต้องได้รับการตรวจสอบข้อสงสัยต่างๆ ให้กระจ่าง และต้องแสดงหลักฐานอย่างโปร่งใส เช่นเดียวกับ หน่วยงานรัฐ ที่ต้องตอบให้ได้ว่า เพราะเหตุใดถึงปล่อยให้ความผิดพลาดเกิดขึ้นต่อเนื่องถึง 4 ปี โดยไม่ได้รับการแก้ไข รวมถึงทำไมจึงปล่อยให้ชื่อในเอกสารขออนุญาตกับเอกสารการส่งออกไม่ตรงกัน แล้วส่งออกไปได้อย่างไร เช่นเดียวกับการหาคำตอบว่า ปลาที่ส่งออกนั้น มาจากไหน มีการเพาะเลี้ยงหรือไม่ หลังจากเลิกส่งออกแล้ว มีการทำลายอย่างถูกต้องไม่ มิฉะนั้น ข้อสงสัยว่า ปลาสวยงามลักลอบ เป็นต้นเหตุของปัญหาปลาหมอคางดำคงยังมีอยู่ และมีโอกาสเป็นไปได้สูงต่อไปแน่นอน

นั่นเพราะเรื่องการลักลอบนำเข้าปลาสวยงาม ถือเป็นสิ่งที่มีอยู่ในประเทศไทย ยืนยันได้จากการพบ “ปลาหมอบัตเตอร์” ซึ่งเป็นหนึ่งในปลาหมอต่างถิ่นห้ามนำเข้าของไทย ที่กำลังขยายพันธุ์ในเขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ ทั้งที่ไม่มีรายงานการนำเข้าเลย สะท้อนว่า ขบวนการลักลอบนำเข้าปลาสวยงาม น่าจะเป็นมูลเหตุสำคัญของปัญหาปลาต่างถิ่นรุกรานระบบนิเวศน์ของไทย และที่ผ่านมาการลักลอบนำเข้านี้ อาจไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างจริงจัง แต่การสืบหาความจริงอาจทำได้ยาก โดยเฉพาะปลาหมอคางดำที่กำลังมีปัญหา การไปสอบถามว่า มีการลักลอบนำเข้ามาหรือไม่ คงไม่มีใครกล้าตอบแน่นอน เพราะกลัวจะได้รับผลกระทบ หรืออาจถูกตรวจสอบไปด้วย

ปัญหาปลาหมอคางดำ หากจะแก้อย่างยั่งยืน จึงไม่สามารถทิ้งประเด็น 11 บริษัทส่งออกปลาไปได้ ขณะเดียวกัน ต้องไม่มองข้ามประเด็นขบวนการลักลอบนำเข้าปลา ที่อาจจะเป็นมูลเหตุของปัญหา หากไม่มีการสอบสวนกลุ่มปลาส่งออกที่มีการค้าต่อเนื่อง แต่กลับเชื่อว่าข้อมูลตลอด 4 ปี นั้นเกิดจากการกรอกข้อมูลผิดเหมือนกันมาเนิ่นนาน ไม่เคยต่างกันเลยแม้แต่ครั้งเดียว อาจทำให้การสืบหาต้นตอปัญหาปลาหมอคางดำไปผิดทางและไม่อาจแก้ปัญหานี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ที่สุดจะกลายเป็นช่องว่างให้ปลารุกรานอื่นๆเกิดขึ้นอีกได้ในอนาคต

เรื่องโดย : สมรัก สุขเกษ ที่ปรึกษาด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ