กรมส่งเสริมการเกษตรสั่งการเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายพื้นที่เกษตรจากพายุฤดูร้อน พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือเกษตรกร

0
12865

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเตือนให้ระวังพายุฤดูร้อนในช่วงวันที่ 1 – 10 มีนาคม 2564 ซึ่งหลายพื้นที่ของประเทศไทยจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงฟ้าผ่า และกรมส่งเสริมการเกษตรได้แจ้งเตือนให้เกษตรกรและประชาชนบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย โดยเฉพาะสวนไม้ผลซึ่งเป็นพืชที่ปลูกครั้งเดียวอยู่ได้นานหลายปี เกษตรกรจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งภัยแล้ง ลมพายุ และน้ำท่วมไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะมีผลไม้ภาคตะวันออกและภาคเหนือหลายชนิดออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ซึ่งดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรมาก จึงมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรสั่งการให้เกษตรจังหวัดและเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเตรียมความพร้อมและให้เร่งลงพื้นที่ไปสำรวจความเสียหายทันทีหลังเกิดภัย พร้อมประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร และให้รายงานความก้าวหน้าให้กรมส่งเสริมการเกษตรทราบเป็นรายวัน

ล่าสุด สำนักงานเกษตรจังหวัดสุโขทัยได้รายงานความก้าวหน้าการสำรวจความเสียหาย (ข้อมูล ณ วันที่ 11 มีนาคม 2564) พบว่ามีพื้นที่ประสบภัย จำนวน 4 อำเภอ 14 ตำบล 73 หมู่บ้าน เกษตรกร จำนวน 3,420 ครัวเรือน พื้นที่ประสบภัยประมาณ 17,700 ไร่ ซึ่งได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่เสียหายเสร็จสิ้นแล้วร้อยละ 81.24 ของพื้นที่ประสบภัย นอกจากนี้ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเบื้องต้น ได้ประสานงานกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดในการรับซื้อผลผลิตข้าวโพดที่ประสบภัย และสามารถบริโภคได้ จำนวน 274 ตัน และจะได้นำกล้าผักไปมอบให้แก่ผู้ประสบภัย จำนวน 10,000 ต้น ในวันที่ 18 มีนาคม 2564 เพื่อให้เกษตรกรได้นำไปปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือนและสร้างรายได้ในเบื้องต้น ซึ่งเกษตรจังหวัดสุโขทัยและเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่พบปะให้กำลังใจเกษตรกรอย่างต่อเนื่องด้วย

นอกจากนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรีได้รายงานว่ามีพื้นที่ประสบภัย จำนวน 3 อำเภอ 4 ตำบล 8 หมู่บ้าน เกษตรกรที่ประสบภัย จำนวน 32 ราย พื้นที่ปลูกทุเรียนคาดว่าจะเสียหาย จำนวนประมาณ 40 ไร่ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรีได้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องและผู้นำท้องถิ่นในการสำรวจความเสียหายเพื่อรายงานอำเภอ/จังหวัดทราบ เพื่อพิจารณาประกาศภัยพิบัติแล้ว ขณะเดียวกันก็ได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรอำเภอเร่งดำเนินการสำรวจและตรวจสอบเกษตรกรที่ได้รับความเสียหาย เพื่อให้ความช่วยเหลือตามระเบียบและหลักเกณฑ์ของทางราชการต่อไป

สำหรับหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ปี 2562 ภายหลังจากผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ให้สำนักงานเกษตรอำเภอ/สำนักงานเกษตรจังหวัด เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และกรอบระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือ (เร่งด่วน) ที่กรมส่งเสริมการเกษตรกำหนดให้แล้วเสร็จ ภายใน 15 วัน ทั้งนี้ การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ มีหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ คือ จะต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไว้ก่อนเกิดภัย และช่วยเหลือเกษตรกรตามจำนวนพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจริง ทั้งนี้ไม่เกิน 30 ไร่ อัตราการช่วยเหลือด้านพืช แบ่งเป็น ข้าว อัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ อัตราไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนและอื่น ๆ อัตราไร่ละ 1,690 บาท