วันนี้ (4 เมษายน 2568) นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน พร้อมด้วย นายชัยยะ พึ่งโพธิ์สภ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการชลประทาน และรองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย ดอนเจดีย์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมเปิดตัวโครงการศึกษาการเพิ่มประสิทธิภาพการชลประทาน ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IrriSAT ณ หอประชุมชูชาติ กำภู สถาบันพัฒนาการชลประทาน กรมชลประทาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เดินหน้าพัฒนาโครงการศึกษาการเพิ่มประสิทธิภาพการชลประทาน ด้วยการนำเทคโนโลยี IrriSAT มาใช้ในการบริหารจัดการน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำให้มากยิ่งขึ้น โดยเริ่มต้นนำร่องในเขตพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 12 ซึ่งจะช่วยให้การจัดสรรน้ำตรงกับความต้องการของเกษตรกร ลดการใช้น้ำเกินจำเป็น และเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกในภาคการเกษตรของไทย
IrriSAT เป็นระบบที่ใช้เทคโนโลยีการสำรวจจากระยะไกล โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมร่วมกับแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เมื่อพัฒนาเพิ่มเติมและติดตั้งสถานีตรวจวัดอากาศอัตโนมัติ จะทำให้สามารถประเมินความต้องการน้ำของพืชในแต่ละพื้นที่ได้แบบเรียลไทม์และแม่นยำ ซึ่งแตกต่างจากวิธีเดิมที่จะต้องส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลเพาะปลูกก่อนนำมาประมวลผล กระบวนการเดิมนี้ใช้ทั้งเวลา งบประมาณ และกำลังคนเป็นจำนวนมาก แต่ระบบ IrriSAT จะช่วยให้กรมชลประทานจัดสรรน้ำได้สอดคล้องกับความต้องการน้ำของเกษตรกร ณ เวลาจริง ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น ลดการสูญเสียน้ำ และช่วยเพิ่มผลิตภาพน้ำภาคการเกษตรในภาพรวมของประเทศไทย
นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณน้ำ คาดการณ์ความต้องการน้ำในพื้นที่เพาะปลูก และตรวจสอบปริมาณฝนล่วงหน้าได้ถึง 7 วัน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการวางแผนเพาะปลูกและบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
นายวิทยา เน้นย้ำว่า โครงการนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่ชลประทานที่มีความแม่นยำ ซึ่งไม่เพียงช่วยลดต้นทุนด้านแรงงานและงบประมาณ แต่ยังช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ลดการสูญเสียน้ำ และเป็นต้นแบบสำหรับการขยายผลไปยังพื้นที่ชลประทานทั่วประเทศในอนาคต นับเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าที่จะช่วยให้ภาคเกษตรกรรมไทยมีความยั่งยืนมากขึ้น