ชป.เดินหน้าแก้แล้งอ.ดอยหล่อ เร่งปรับปรุงระบบผันน้ำฝายแม่ตื่น-อ่างฯห้วยโป่งจ้อ

0
6801

กรมชลประทาน เดินหน้าแก้ไขปัญหาภัยแล้งพื้นที่ อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ เร่งปรับปรุงซ่อมแซมระบบผันน้ำจากฝายแม่ตื่นมาเติมอ่างเก็บน้ำห้วยโป่งจ้อ เบื้องต้นทุ่มงบ 3 ล้านบาท ขุดลอกหน้าฝายพร้อมซ่อมแซมท่อส่งน้ำที่ชำรุด พร้อมวางแผนของบอีก 70 ล้านบาท เดินหน้าปรับปรุงฝายทั้งระบบพร้อมระบบส่งน้ำโดยท่อเหล็ก คาดได้งบก่อสร้างในปี 65

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ถึงกับมีข่าวว่า เชียงใหม่แล้งจัดชาวสวนตักน้ำจากแม่น้ำปิงใส่รถบรรทุกเติมใส่อ่างเก็บน้ำเอง นั้น ได้สั่งการให้โครงการชลประทานเชียงใหม่ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบ ลงพื้นที่เพื่อไปติดตามและหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยเบื้องต้นได้นำเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว 2 เครื่อง พร้อมด้วยท่อส่งน้ำ อุปกรณ์ และรถบรรทุก ขนาด 6,000 ลิตร เข้าไปประจำการที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาเรื่องน้ำแห่งที่ 4 ซึ่งประจำการรับเรื่องอยู่ที่ฝายดอยน้อย เพื่อให้การสนับสนุนพื้นที่การเกษตรกรณีมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง


ทั้งนี้ กรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานเชียงใหม่ จะทำการขุดลอกหน้าฝาย และซ่อมแซมชุดยกบานระบาย และซ่อมแซมท่อส่งน้ำที่ได้รับความเสียหาย เพื่อให้สามารถผันน้ำจากฝายแม่ตื่นไปยังอ่างเก็บน้ำห้วยโป่งจ้อ เป็นการบรรเทาปัญหาเบื้องต้นไปก่อน ส่วนระยะต่อไปโครงการชลประทานเชียงใหม่ได้ทำการออกแบบปรับปรุงระบบผันน้ำใหม่ทั้งระบบ คาดว่าจะได้รับงบประมาณในการก่อสร้างในปี 2565 ขณะนี้ได้ทำการออกแบบก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว


ด้านนายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในระยะต่อไป จะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยจะดำเนินการปรับปรุงฝายแม่ตื่น เพื่อแก้ปัญหาการตกทับถมของตะกอนและปรับปรุงระบบผันน้ำให้มีความทนทานมากยิ่งขึ้น ด้วยการปรับปรุงอาคารทางระบายฝั่งขวาและปรับปรุงช่องระบายทรายให้มีขนาดใหญ่ขึ้น พร้อมติดตั้งบานระบายตะกอนและเครื่องกว้านบานระบาย ส่วนการก่อสร้างระบบผันน้ำฝายแม่ตื่น-อ่างเก็บน้ำห้วยโป่งจ้อ นั้น จะทำการวางท่อเหล็กขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร ทดแทนท่อ HDPE เดิม ความยาวแนวท่อส่งน้ำกว่า 4 กิโลเมตร พร้อมก่อสร้างอาคารรับท่อ และอาคารป้องกันตลิ่งบริเวณที่แนวทางผันน้ำหลุดออกจากตลิ่งด้วย หากโครงการแล้วเสร็จ จะทำให้เพิ่มศักยภาพในการเก็บกักน้ำและการจัดการน้ำในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาความเสี่ยงจากอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี