สศก. จับมือ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ลงนาม MOU บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ พัฒนาขีดความสามารถ ด้านข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร และฐานข้อมูล Big Data เสริมแกร่งนักวิชาการในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมแลกเปลี่ยนมุมมองผลกระทบเศรษฐกิจการเกษตรในช่วงวิกฤตโควิด- 19 สู่โอกาสที่ท้าทาย เพื่อขับเคลื่อนภาคเกษตรไทยสู่ความสำเร็จยุคNew Normal
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยได้มีพิธีลงนาม MOU บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการร่วมกันในวันนี้ว่า จากที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นนโยบายขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารและการบริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ที่รัฐบาลให้ทุกกระทรวงเร่งจัดทำฐานข้อมูล Big Data เพื่อให้บริการกับทุกภาคส่วน และได้มอบหมาย สศก. เป็นผู้ดำเนินการหลักในการจัดทำ Big Data ของกระทรวงเกษตรฯ ทาง สศก. ได้มีการบูรณาการร่วมกับ 10 กระทรวง และ MOU เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อ 25 ธันวาคม 2562 พร้อมกับดำเนินการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (National Agricultural Big Data Center) หรือ NABC และเปิดให้บริการมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563
ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ ได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งสถาบันการศึกษา ที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการจัดทำ Big Data ด้านการเกษตรให้เกิดผลเป็นรูปธรรม การลงนาม MOU บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการของ สศก. และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในวันนี้ นับเป็นอีกก้าวสำคัญ ที่จะร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถด้านวิชาการ ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และร่วมกันเสริมสร้างความเข้มแข็งและประสิทธิภาพเจ้าหน้าที่และนักวิชาการของทั้ง 2 หน่วยงาน สร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการร่วมกัน
ภายในงาน นอกจากการลงนาม MOU ร่วมกันแล้ว สศก. และ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังได้มีเวทีเสวนาร่วมกันในประเด็น “เศรษฐกิจการเกษตรวิถีใหม่บนโอกาสที่ท้าทาย” เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง โดยเลขาธิการ สศก. และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยเฉพาะมุมมองของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID–19 ที่กระทบเศรษฐกิจ และโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งในส่วนของภาคเศรษฐกิจการเกษตร แน่นอนว่าย่อมต้องเกิดผลกระทบ ต่อระบบห่วงโซ่การผลิตอย่างฉับพลัน การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทมากขึ้นในธุรกิจและชีวิตประจำวันในวิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal
“สศก. เรามีความพร้อมทั้งด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี และบุคลากรที่จะร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อสร้างสรรค์ผลงานและพัฒนางานด้านวิชาการทั้งงานวิจัย นวัตกรรมด้านเกษตร การพยากรณ์ที่ครอบคลุมทุกมิติ และวันนี้ ยังเป็นโอกาสสำคัญที่ได้แลกเปลี่ยนมุมมองเสวนาในด้านต่างๆ ต่อวิกฤตสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น อาทิ มุมมองด้านพฤติกรรมการบริโภคที่หันมาสู่ ตลาด online การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร การพัฒนาโลจิสติกส์การส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรแม่นยำสูงให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรสามารถเข้าถึงระบบเทคโนโลยีดิจิทัลด้วยต้นทุนต่ำที่สุด รวมไปถึงการส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) และแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตลอดจนความมั่นคงอาหารและเศรษฐกิจในชุนชนท้องถิ่น ซึ่งสศก. ได้พัฒนาและจัดทำปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนระดับจังหวัดเพื่อวางแผนเรื่องความมั่นคงอาหาร และช่วงที่ผ่านมา ได้เปิดตัวโครงการแรงงานคืนถิ่น พลิกฟื้นผืนดินด้วยเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อช่วยเหลือกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งทั้งหมดนี้ หากเรามองเห็นถึงโอกาสในช่วงวิกฤตที่เกิดขึ้น ก็จะเป็นอีกก้าวแห่งการพัฒนาขับเคลื่อนภาคเกษตรไทยสู่ความสำเร็จไปอีกขั้นในยุคที่ท้าทายในปัจจุบัน” เลขาธิการ สศก. กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวเสริมว่า “ทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เรายินดีอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับทาง สศก. โดยเฉพาะทักษะด้านวิชาการ การพัฒนาและประยุกต์ใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อการวิเคราะห์ วิจัย และการพยากรณ์ทางเศรษฐกิจการเกษตรให้แก่นักวิชาการของ สศก. ตลอดจนการสำรวจโพลและเผยแพร่ข่าวสารสู่สาธารณชน และยินดีที่จะร่วมสนับสนุนนักวิชาการในการประชุม สัมมนา อบรมทางวิชาการที่จัดขึ้นเพื่อร่วมกันเพิ่มพูนศักยภาพของบุคลากรไปด้วยกัน”
ทั้งนี้ การจับมือกันระหว่าง สศก. และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นอีกก้าวของความสำเร็จในการบูรณาการจากทุกภาคส่วน ซึ่งที่ผ่านมา สศก. ได้มีการประสานความร่วมมือกับหลายหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร สู่การพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ Big data ในทันต่อยุคสมัย และหลังจากนี้สศก. พร้อมที่จะประสานความร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อขับเคลื่อนภาคเกษตรไทย ตามนโยบาย เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตร ในฐานะหน่วยงานจัดทำ Big Data ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สู่การวางแผนและกำหนดทิศทางการพัฒนาการเกษตรของไทยต่อไป