กรมส่งเสริมการเกษตร คว้า 2 รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ประจำปี 2563

0
8335

กรมส่งเสริมการเกษตร คว้ารางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) หมวด 2 ด้านการวางแผนยุทธศาสตร์และการสื่อสารเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ และรางวัลบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดี ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective change) จากผลงาน ชุมชนบางตลาดร่วมใจ บริหารจัดการผลผลิตมะพร้าวอ่อนแบบบูรณาการ ปี 2563
จากประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เรื่อง ผลการพิจารณารางวัลเลิศรัฐ ประจำปี พ.ศ. 2563 คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร) ได้มีมติมอบรางวัลให้กับหน่วยงานที่มีผลการดำเนินการที่เป็นเลิศทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐ การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภายในองค์กร และเปิดระบบราชการให้ภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วม

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ปี 2563 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้รับ 2 รางวัล ได้แก่ รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ด้านการวางแผนยุทธศาสตร์และการสื่อสาร เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับหน่วยงานของรัฐที่มีผลการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการได้ทัดเทียมมาตรฐานสากล ซึ่งได้มาด้วยความเพียรพยายาม ความอดทน หลอมรวมกับความตั้งใจจริงของทุกคนในองค์การ เพื่อนำพาองค์การให้ก้าวสู่ความเป็นเลิศ โดยในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของกรมส่งเสริมการเกษตรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ยึดหลัก “ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา และร่วมรับประโยชน์” คือ เจ้าหน้าที่ทุกระดับ องค์กรเกษตรกร ภาคเอกชน ร่วมคิดวิเคราะห์ เพื่อวางแผนยุทธศาสตร์กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกัน และวางแนวทางให้เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 20 ปี รวมทั้งวางแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรตามศักยภาพและลักษณะการทำฟาร์มของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ด้วย นอกจากนี้ การทำแผนดังกล่าวลงสู่ภาคปฏิบัตินั้นได้มีการใช้ช่องทางต่าง ๆ เพื่อสื่อสารให้ถึงผู้ปฏิบัติในทุกระดับ คือ ผู้บริหารมีการสื่อสารหรือให้ทิศทางการบริหารราชการ ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น การประชุมประจำเดือนของผู้บริหาร เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับเขต รวมไปถึงการลงพื้นที่ตรวจราชการและให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรมีวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดระบบส่งเสริมการเกษตร (T&V System) ซึ่งเป็นระบบที่นักส่งเสริมการเกษตรใช้เป็นหลักการทำงานในพื้นที่ โดยมีองค์ประกอบหลัก คือการถ่ายทอดความรู้ (Training) การเยี่ยมเยียน (Visiting) การสนับสนุน (Supporting) การนิเทศงาน (Supervision) และการจัดการข้อมูล (Data Management) ทั้งนี้ระบบส่งเสริมการเกษตรจะมุ่งเน้นการทำงานแบบบูรณาการ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนการทำงานและแก้ไขปัญหาของเกษตรกรให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ว่า “เกษตรกรมีความเข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดี ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และมีรายได้ที่มั่นคง”


อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับรางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดี ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective change) จากผลงาน ชุมชนบางตลาดร่วมใจ บริหารจัดการผลผลิตมะพร้าวอ่อนแบบบูรณาการ เป็นรางวัลที่มอบให้กับหน่วยงานของรัฐที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารราชการบนพื้นฐานความรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนไต้อย่างแท้จริง โดยผลงาน/โครงการชุมชนบางตลาดร่วมใจ บริหารจัดการผลผลิตมะพร้าวอ่อนแบบบูรณาการ เป็นผลงานจาก ต.บางตลาด อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นแหล่งปลูกมะพร้าวน้ำหอมที่มีคุณภาพแหล่งหนึ่งของประเทศ แต่ปัจจุบันปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย มีราคาสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง ประกอบกับประสบปัญหาเศษวัสดุเหลือใช้จากการแปรรูปมะพร้าว ก่อมลพิษและอาจเป็นแหล่งสะสมโรคและแมลงศัตรูพืช

กรมส่งเสริมการเกษตรจึงดำเนินการโดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของเกษตรกร ชุมชน และหน่วยงานภาคีในลักษณะที่ได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย โดยกระตุ้นให้เกษตรกร สามารถคิด วิเคราะห์ และร่วมวางแผนในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของตนเอง และมีเกษตรกรเครือข่ายเป็นผู้ประสานการถ่ายทอดความรู้และแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรในเบื้องต้น โดยมีนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรคอยให้คำปรึกษา เป็นพี่เลี้ยง และสนับสนุนด้านวิชาการ ส่งผลเป็นรูปธรรมในพื้นที่ชุมชน คือ ชุมชนสามารถลดต้นทุนการผลิต จากการผลิตปุ๋ยใช้เองตามการตรวจวิเคราะห์ดิน และทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากใช้ปุ๋ยที่ตรงกับความต้องการของพืช ลดการเผาและปริมาณขยะเปลือกมะพร้าว ตลอดจนลดการสะสมของโรคและแมลงศัตรูพืช โดยการผลิตเป็นขุยมะพร้าว และนำไปขายต่อให้โรงไฟฟ้าชีวมวลเพื่อทำเป็นเชื้อเพลิง ทั้งนี้มีการต่อยอดเชื่อมโยงการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทั้งในตำบลและในอำเภอด้วย รวมถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิต สร้างตราสัญลักษณ์สินค้าของชุมขนเพื่อประชาสัมพันธ์และเตรียมพร้อมเปิดเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตร สร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักต่อไป สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของชุมชน คือ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สร้างและพัฒนาตลาดด้วยตนเองอย่างยั่งยืน”