กรมชลประทาน ชี้แจงกรณี โครงการฝายขุนน้ำสะเนียนพร้อมระบบส่งน้ำจัดหาน้ำสนับสนุนโครงการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าไม้ และพัฒนาพื้นที่ชุมชนบ้านห้วยลู่ เมืองน่าน งบกว่า 10 ล้านบาท ไม่สามารถใช้เก็กกักน้ำได้ แท้งค์น้ำสูงใหญ่ที่หวังแก้ปัญหาชาวบ้านขาดน้ำกินน้ำใช้ช่วงหน้าแล้ง ตอนนี้ยังเป็นต้นหนาว แต่น้ำกับไม่มีในระบบ นั้น
ดร.สุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าโครงการจัดหาน้ำสนับสนุนโครงการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าไม้ และพัฒนาพื้นที่ชุมชนบ้านห้วยลู่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบล– สะเนียน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เริ่มก่อสร้างวันที่ 1 มิถุนายน 2562 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563
ทั้งนี้ สาเหตุเกิดจากปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปีของสถานีวัดน้ำฝนอำเภอเมืองน่าน ปกติจะมีฝนตกเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 1,244.02 มิลลิเมตร(มม.) แต่ในช่วงฤดูฝนปี 2563 ที่ผ่านมา สถานีวัดน้ำฝนอำภอเมืองน่าน ที่อยู่ห่างจากที่ตั้งโครงการฯประมาณ 39 กม. มีปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งปี 1,091 มม. และสถานีวัดน้ำฝนอำเภอบ้านหลวง ที่อยู่ห่างจากที่ตั้งโครงการฯประมาณ 30 กม. มีปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งปีเพียง 961.20 มม. อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าปริมาณฝนเฉลี่ยรายปีของอำเภอเมืองน่าน ทำให้ปริมาณน้ำที่หน้าฝายมีไม่เพียงพอที่จะส่งเข้าระบบและส่งต่อมาที่ถังพักน้ำได้
กรมชลประทาน ได้วางแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน ด้วยการจัดทำฝายชั่วคราวบริเวณที่เหมาะสม ซึ่งอยู่นอกโครงการพื้นที่ศูนย์เรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตขุนน้ำสะเนียน-ห้วยลู่ ที่ได้อนุญาตไว้ พร้อมกับวางท่อ PVC ขนาด 3 นิ้ว ระยะทางประมาณ 3 กม. มาเชื่อมกับระบบส่งน้ำเดิม โดยใช้งบประมาณของโครงการชลประทานน่าน จากงบประมาณรายจ่ายค่าซ่อมแชมโครงการชลประทานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามข้อเสนอของเกษตรกรในเขตจังหวัดน่าน ซึ่งโครงการดังกล่าวมีเงื่อนไขคือ หน่วยงานเป็นผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์ และให้กลุ่มผู้ใช้น้ำเป็นผู้ดำเนินการ ตามกระบวนการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้น้ำ
ทั้งนี้ ในระยะยาว โครงการชลประทานน่าน ได้วางแผนงานโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำจำนวน 2แห่ง ในปี 2565 คือ อ่างเก็บน้ำขุนสะเนียน ความจุ 80,000 ลูกบาศก์เมตร และอ่างเก็บน้ำห้วยสวนสัมความจุ 10,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสนับสนุนในพื้นที่ชุมชนบ้านห้วยลู่และโครงการพื้นที่ศูนย์เรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตขุนน้ำสะเนียน – ห้วยลู่ และพื้นที่ใกล้เคียงต่อไป