(วานนี้20 ตุลาคม 2562) ณ ท่าเทียบเรือแพ ป.ชานนท์ ต.บ่อน้ำร้อน อ.กันตัง จ.ตรัง กรมประมงปล่อยเรือประมงนอกน่านน้ำ จำนวน 2 ลำ ได้แก่ เรือมณีเงิน 5 และโชคเพิ่มสิน 1 ออกทำการประมงเป็นระยะเวลา 90 วันบริเวณพื้นที่ Saya de Malha Bank ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรอบความร่วมมือว่าด้วยการทำประมงในพื้นที่มหาสมุทรอินเดียตอนใต้ (SIOFA)
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ประเทศไทยได้มีการวางระบบป้องกันการทำประมงไอยูยู ใน 5ด้านที่สำคัญ ได้แก่ 1.ด้านกฎหมาย 2.ด้านการบริหารจัดการประมงและการจัดการกองเรือ 3.ด้านการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (MCS) 4.ด้านการตรวจสอบย้อนกลับ และ 5.ด้านการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีระบบการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังเรือประมง (MonitoringControl and Surveillance) ที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพและเป็นสากล เรือประมงทุกลำที่ออกทำการประมงนอกน่านน้ำสากล จะต้องปฏิบัติตามระเบียบถูกต้องตามกฎหมายทั้งของไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ ปัจจุบันมีเรือประมงที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำในพื้นที่ SIOFA มีจำนวน 3 ลำ โดยในระหว่างเรือประมงทุกลำออกทำการประมงนอกน่านน้ำ เรือทุกลำ กรมประมงจะเฝ้าติดตามพฤติกรรมการเดินเรือและพฤติกรรมการทำประมงตลอด 24 ชั่วโมง โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ ประกอบด้วย ระบบระบุตำแหน่งเรือประมง VesselMonitoring System (VMS) ระบบเฝ้าติดตามอิเล็กทรอนิกส์ Electronic Monitoring (EM) หรือกล้องวงจรปิด และระบบการรายงานทางอิเล็กทรอนิกส์ Electronic Reporting System (ERS) ซึ่งเป็นช่องทางในการป้องกันปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม สามารถรายงานข้อมูลการทำการประมง การขนถ่ายสัตว์น้ำ การติดตามกิจกรรมต่างๆของเรือได้ตลอดเวลา อีกทั้งหากพบว่าเรือประมงมีพฤติกรรมต้องสงสัย กรมประมงสามารถร้องขอภาพเพื่อให้ระบบถ่ายภาพส่งเข้ามายังระบบเฝ้าระวังที่ศูนย์ FMC ได้ตลอด 24ชั่วโมง
.
นอกจากนี้ กรมประมงยังได้จัดส่งผู้สังเกตการณ์บนเรือ (Observer on board) เพื่อทำหน้าที่เก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และสังเกตพฤติกรรมการทำประมงของเรือนอกน่านน้ำบนเรือประมงตลอดเวลา ตั้งแต่ออกเดินทางจากท่าประเทศไทยจนกระทั่งกลับ ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดขององค์การบริหารจัดการประมงระดับภูมิภาค SIOFA เมื่อเรือกลับเข้าเทียบท่าเจ้าหน้าที่จะถอดวิดีโอที่บันทึกภาพเหตุการณ์ตั้งแต่เรือออกจากท่าจนกระทั่งเรือกลับเข้าท่า นำไปวิเคราะห์พฤติกรรมการทำประมงอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศ
ด้านการตรวจเรือประมงเมื่อเข้าและออกจากท่าจะดำเนินการตรวจอย่างเคร่งครัด โดยมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่กรมประมง และเจ้าหน้าที่ชุดสหวิชาชีพจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมเจ้าท่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมการจัดหางาน และตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพื่อเก็บข้อมูลรายละเอียดต่างๆ อาทิ รูปพรรณเรือ อัตลักษณ์เรือ อุปกรณ์ความปลอดภัยบนเรือ ใบอนุญาตประมงพาณิชย์ เครื่องมือประมง ความพร้อมระบบติดตามเรือ หนังสือคนประจำเรือ สมุดบันทึกการทำประมง สวัสดิการและความเป็นอยู่ของคนประจำเรือ การใช้แรงงานผิดกฎหมาย การรับจ่ายค่าจ้าง การจัดเวลาพักของลูกเรือ และสัญญาจ้าง ฯลฯ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเรือประมงระหว่างออกทำประมงและแสดงให้ทั่วโลกได้เห็นถึงศักยภาพของเรือประมงไทยที่ยึดหลักการปฎิบัติที่เป็นสากลซึ่งนับเป็นการสร้างมิติใหม่ของการทำประมงนอกน่านน้ำ
สำหรับเรือมณีเงิน 5 และเรือโชคเพิ่มสิน 1 ซึ่งมีแผนออกไปทำการประมงในพื้นที่บริเวณมัลฮาแบงค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ความรับผิดชอบภายใต้การดูแลของ SIOFA ในวันที่ 20 ตุลาคม 2562 นั้น กรมประมงได้มีการตรวจสอบความเสถียรของระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมทั้งระบบ V–SAT และ IMMARSAT เพื่อให้การทำงานของระบบการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังเรือประมง ทั้งระบบ VMS ระบบ ERS และ ระบบ EM มีประสิทธิภาพสูงสุด สร้างความมั่นใจว่ากรมประมงสามารถควบคุมกิจกรรมการทำประมงนอกน่านน้ำให้เป็นตามกฎหมายได้เป็นอย่างดี
.
นอกจากนี้ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการใช้แรงงานประมง เพื่อให้แรงงานในเรือประมงได้รับการคุ้มครอง มีสวัสดิการ ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ป้องกันการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานทาสในเรือประมง อีกทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมประมงยังมีแผนเปิดอบรม หลักสูตรผู้สังเกตการณ์บนเรือ (Observer on board) เพิ่มเติมในปลายปี 2562 เพื่อรองรับกองเรือประมงนอกน่านน้ำที่จะทยอยออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำต่อไปในอนาคตอันใกล้