รมช.ธรรมนัส ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติการฝนหลวงพื้นที่ภาคเหนือ เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งปี 2563
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมการปฏิบัติการฝนหลวงพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับเขื่อน/อ่างเก็บน้ำ และพื้นที่ประสบภัยแล้ง ณ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีการรายงานภารกิจในการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ บรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก รวมทั้งยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ ตามแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2562 โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทั้ง 5 ศูนย์ฯ ได้ดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึง 24 ตุลาคม 2562 มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวนทั้งสิ้น 226 วัน โดยมีวันฝนตกจากการปฏิบัติการฯ คิดเป็นร้อยละ 89 และขึ้นบินปฏิบัติงาน จำนวน 6,139 เที่ยวบิน (8,707 ชั่วโมงบิน) โดยมีผลการปฏิบัติการฝนหลวง คือ
1) มีจังหวัดที่มีการรายงานฝนตกรวม 59 จังหวัด
2) พื้นที่ประสบภัยแล้งที่ได้รับการช่วยเหลือ คิดเป็นร้อยละ 78.04 และ
3) มีการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนขนาดใหญ่ จำนวน 2,923.22 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 43.21 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น จึงทำให้มีปริมาณน้ำสะสมทั้งหมด 2,966.43 ล้าน ลบ.ม.
อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรและประชาชนอย่างใกล้ชิด เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งและปัญหาภัยพิบัติต่าง ๆ ทันทีเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย อีกทั้งยังได้หารือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน) และนำเรียนนายกรัฐมนตรีถึงแนวทางการการแก้ไขปัญหาในเรื่องบุคคลากรของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นควรให้มีการปรับโครงสร้างกำลังคน และมีการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทดแทนที่เสื่อมสภาพไปแล้ว อีกทั้งจะมีการซ่อมแซมยุทโธปกรณ์ที่ชำรุดเสียหายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้มอบหมายอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรไปปฏิบัติการ
.
สำหรับภาพรวมของปัญหาภัยแล้งในปีนี้ เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนในแต่ละที่มีปริมาณน้อย แต่กระทรวงเกษตรฯ มีการเตรียมการรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งโครงการต่าง ๆ ที่กรมชลประทานดูแลอยู่นั้น มีการขับเคลื่อนโดยตลอด อีกทั้งในขณะนี้รองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้กำกับดูแลอย่างใกล้ชิด และได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2563 ที่จะถึงนี้ อย่างไรก็ตาม ต้องมีการรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนให้ความรู้แก่เกษตรกร ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคและเกษตรกร หากปริมาณน้ำมีจำนวนจำกัด ต้องช่วยกันรักษาและใช้น้ำอย่างประหยัด หรือการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เป็นต้น
ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงมีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 18 หน่วยปฏิบัติการกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก ตาก ลพบุรี กาญจนบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น สุรินทร์ ระยอง สุราษฎร์ธานี และสงขลา อีกทั้งยังมีฐานเติมสารฝนหลวง จำนวน 3 ฐาน ได้แก่ สระแก้ว บุรีรัมย์ และนครสวรรค์ มีอากาศยาน จำนวน 28 ลำ ได้แก่ อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 20 ล้า (Caravan จำนวน 10 ลำ Casa จำนวน 6 ลำ Super King Air จำนวน 2 ลำ และ CN-235 จำนวน 2 ลำ) อากาศยานของกองทัพอากาศ จำนวน 7 ลำ (BT-67 จำนวน 3 ลำ และ AU-23 จำนวน 4 ลำ) และอากาศยานของกองทัพบก จำนวน 1 ลำ (Casa จำนวน 1 ลำ) เพื่อเดินหน้าช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และพื้นที่ที่มีความต้องการน้ำด้านการเกษตรในช่วงปลายฤดูฝน รวมทั้งเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับเขื่อน/อ่างเก็บน้ำ จำนวน 20 แห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแม่มอก เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนกระเสียว เขื่อนทับเสลา เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำแชะ เขื่อนลำนางรอง เขื่อนมูลบน อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก อ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำบางวาด อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ อ่างเก็บน้ำป่าพะยอม และอ่างเก็บน้ำคลองหัวช้าง