ปริศนาที่ต้องไข “ปลาหมอคางดำส่งออก” อ้างกรอกชื่อผิด

0
63210

ภายหลัง คณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทาง แก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ ได้รับข้อมูลใหม่ว่า การส่งออกปลาหมอคางดำ บริษัทผู้ส่งออกทั้ง 11 บริษัท ประกอบด้วย หจก.ฉาง ซิน เอ็นเตอร์ไพร์, หจก. ซีฟู้ดส์ อิมปอร์ต-เอ็กซ์ปอร์ต, บจก.นิว วาไรตี้, บจก. พี.แอนด์.พี อควาเรี่ยม เวิลด์ เทรดดิ้ง, บจก.ไทย เฉียน หวู่, บจก. แอดวานซ์ อควาติก, บจก.เอเชีย อะควาติคส์, บจก.หมีขาว, หจก. วี. อควาเรียม, บจก.สยามออร์นา เมนทอล ฟิช, และ หจก.สมิตรา อแควเรี่ยม นั้นเกิดจากบริษัทชิปปิ้งทำเอกสารส่งออก เกิดความผิดพลาดในขั้นตอนการกรอกชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อสามัญ และชื่อไทยผิด จึงเข้าใจว่า เป็นปลาหมอคางดำ ทั้งที่จริงแล้วเป็นปลาชนิดอื่น

กลายเป็นข้อสงสัยที่สังคมตั้งคำถามทันทีว่า แล้วภาครัฐปล่อยให้ใช้ชื่อที่กรอกผิดมาตลอดการส่งออกตั้งแต่ปี 2556-2559 ทุกบริษัท และทุกรอบการส่งออก โดยไม่มีใครทักท้วง หรือตรวจสอบ ทั้งในส่วนของบริษัทส่งออก ผู้ชื้อ และหน่วยงานควบคุมกำจัด ทั้งที่ปลาหมอคางดำ เป็นปลาต่างถิ่น ที่ไม่อนุญาตให้นำเข้า แต่ปล่อยให้มีการส่งออกได้อย่างไร และหากปลาหมอคางดำไม่ได้รับความสนใจหรือเป็นปัญหาขึ้นมา ความผิดพลาดนี้ก็อาจยังไม่ถูกค้นพบก็เป็นได้

จากบทสัมภาษณ์ของ น.พ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ ว่า ได้รับข้อมูลใหม่ว่า ผู้ส่งออกปลาสวยงามทั้ง 11 บริษัท ใส่ข้อมูลชื่อปลาในระบบผิดพลาด เพราะจ้างชิปปิ้งทำเอกสารส่งออกแล้วลงระบบผิด โดย ระบุชื่อไทย ว่า ปลาหมอเทศข้างลาย ชื่อวิทยาศาสตร์ Sarotherodon melanotheron ชื่อสามัญ Blackchin tilapia แต่ในระบบทางราชการ ชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อสามัญข้างต้น เป็นของ ปลาหมอคางดำ แล้วสรุปว่า ใส่ชื่อไทยผิด แต่ปล่อยให้ผิดติดต่อกันมาตลอดเวลา 4 ปี แม้ภาครัฐบอกว่า ได้ตรวจสอบแล้วในปี 60 แต่คงเชื่อยาก และประธานอนุกรรมาธิการ ก็คงยังไม่สิ้นสงสัยเช่นกัน

ข้อมูล ชื่อเรียก เมื่ออ้างอิงข้อมูลจาก อ.เจษฎ์ – ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่อธิบายว่า ปลาหมอคางดำ มีชื่อสามัญว่า blackchin tilapia มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sarotherodon melanotheron จัดอยู่ในวงศ์ปลาหมอสี (family Cichlidae) เช่นเดียวกับปลานิล และปลาหมอเทศ (แต่คนละสกุล genus กัน) ในการบัญญัติชื่อภาษาไทยจึงขึ้นต้นว่า “ปลาหมอ” (หรือช่วงหนึ่งเคยใช้คำว่า “ปลาหมอสี” ตามชื่อวงศ์ด้วยซ้ำ) แทนที่จะชื่อว่า ปลานิล และตอนที่บริษัทเอกชนรายจะขอนำเข้าพันธุ์ปลา blackchin tilapia จากประเทศกานา มาทำวิจัย โดยเขียนในเอกสารโครงการวิจัยว่า “ลูกปลานิลจากประเทศกานา” ก็ยังถูกกรมประมงกำหนดให้เปลี่ยนเป็น “ปลาหมอ” แทน

แต่เนื่องจากช่วงเวลานั้น ยังไม่มีการบัญญัติชื่อ “ปลาหมอ(สี)คางดำ” ทำให้ในเอกสารโครงการที่ถูกแก้ จึงใช้คำว่า “ปลาหมอเทศข้างลาย (ชื่อสามัญ Blue tilapia ชื่อวิทยาศาสตร์ Oreochromis aureus)” ทั้งที่เป็นคนละสปีชีส์กันและมาปรากฏเป็นชื่อ “ปลาหมอ(สี)คางดำ” ชัดเจน ในประกาศห้ามนำเข้า-เพาะพันธุ์-ส่งออก ของกรมประมง ในปี พ.ศ 2561 พร้อมกับปลาหมอสีต้องห้ามอื่นๆ เช่น ปลาหมอบัตเตอร์ (Zebra tilapia ชื่อวิทยาศาสตร์: Heterotilapia buttikoferi) ปลาหมอมายัน (Mayan cichlid ชื่อวิทยาศาสตร์: Mayaheros urophthalmus)

ทั้ง 11 บริษัท ให้ข้อมูลในเบื้องต้นถึงใบขนส่งของกรมศุลกากรและพิกัดศุลกากร และส่งไปปลายทางที่เอามายืนยัน สุดท้ายไม่ได้เป็นปลาหมอคางดำ แต่เป็นปลาหมอสีมาลาวี และ ปลาหมอโทรเฟียส ข้อมูลการส่งออกที่ระบุว่า ปลาหมอคางดำ จึงลงบันทึกผิดในระบบเท่านั้น …ถือเป็นคำชี้แจงที่เชื่อได้ยาก เพราะหากเป็นเช่นนี้แสดงว่า ผู้ส่งออกทั้ง 11 บริษัท ใช้บริการชิปปิ้งเดียวกัน และอาจไม่ได้ตรวจเอกสารเลยว่า ปลาที่ระบุในเอกสาร ไม่ตรงกับปลาที่ขายจริงมาตลอด 4 ปี โดยไม่มีการทักท้วงเลย ในขณะที่ภาครัฐก็ไม่ได้มีการตรวจสอบเลยว่า ปลาที่ส่งออกไปเป็นปลาอะไร ตรงกับที่ระบุในเอกสารส่งออกหรือไม่ และความจริงในเรื่องนี้เป็นอย่างไร ?

สำคัญกว่านั้นคือ หลังมีกฎหมายห้ามเพาะเลี้ยงมีผลบังคับใช้ในปี 2561 ตัวเลขส่งออกก็ไม่ปรากฎให้เห็น เกิดคำถามมาว่า ถ้าปลาที่ส่งออก ไม่ใช่ปลาหมอคางดำ มีเหตุผลใดถึงหยุดส่ง แต่ถ้าเป็นปลาหมอคางดำ พ่อแม่พันธุ์เหล่านั้นไปไหน หรือมีการทำลายอย่างถูกต้องหรือไม่ อย่างไร หากปล่อยลงคูคลองก็ไม่แคล้วกลายเป็นแหล่งแพร่พันธุ์ปลาชนิดนี้ เพราะแหล่งน้ำสำคัญของจังหวัดราชบุรี แหล่งเพาะเลี้ยงปลาสวยงามมากที่สุดของประเทศ ก็สามารถเชื่อมต่อมายังจังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม ที่พบการแพร่ของปลาหมอคางดำได้

วันนี้กระแสสังคมต้องการหาต้นตอการระบาด ก็จำเป็นต้องมีการตรวจสอบการส่งออกอย่างละเอียดว่า ปลาที่ปลายทางได้รับเป็นปลาชนิดใด เพราะถือเป็นอีกปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริง อย่างโปร่งใส ครบถ้วนในทุกมิติ มิเช่นนั้นสังคมก็จะยังตั้งคำถามต่อไป

บทความโดย .. วิภาวี บุตรสาร นักวิชาการด้านสัตว์น้ำ