“ครบรอบ 22 ปี มกอช. ขับเคลื่อนงานด้านมาตรฐานสินค้าเกษตร สร้างความยั่งยืนสู่สากล ภายใต้แนวคิด Go Green Go Global ”

0
65770

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จัดงานเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนา มกอช. ครบรอบ 22 ปี ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “Go Green Go Global ขับเคลื่อนงานด้านมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อสร้างความยั่งยืนสู่สากล” มุ่งเน้นการทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนด้วยมาตรฐานสินค้าเกษตร พร้อมกับสร้างระบบให้มีมาตรฐานและการมีส่วนร่วมเพื่อการยอมรับสู่สากล ควบคู่กับการขับเคลื่อนนโยบาย “เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน” มุ่งยกระดับเกษตรกร ผู้ประกอบการ เข้าสู่ระบบมาตรฐาน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก

นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เนื่องด้วยนโยบายของรัฐบาล “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” และนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน” โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนงานภายใต้นโยบายด้านการเกษตรทั้ง 9 นโยบาย คือ 1) สร้างวิธีการทำงานสู่การปฏิบัติ 2) เร่งรัดจัดที่ดินทำกินให้กับเกษตรกร 3) บริหารจัดการน้ำ 4) ยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 5) ยกระดับศักยภาพของเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง 6) จัดการทรัพยากรทางการเกษตร 7) รับมือกับภัยธรรมชาติ 8) สานต่อการทำสงครามสินค้าเกษตรเถื่อน และ 9) อำนวยความสะดวกด้านการเกษตร มกอช. ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีภารกิจหลักด้านการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร ทำหน้าที่กำหนด ส่งเสริม ควบคุม และดูแลระบบการตรวจสอบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรตั้งแต่ระดับไร่นาจนถึงผู้บริโภค ตลอดจนการเจรจาแก้ไขปัญหาทางการค้าเชิงเทคนิค เพื่อปรับปรุงและยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้ได้มาตรฐาน มีคุณภาพและความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก สอดคล้องกับนโยบาลของรัฐบาลด้านการเกษตรในการยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาและยกระดับเกษตรกร ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบมาตรฐาน ผลิตและพัฒนาสินค้าเกษตรมูลค่าสูง รวมไปถึงการสร้างองค์ความรู้ และการตระหนักรู้ถึงสินค้าเกษตรที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ ผ่านตราสัญลักษณ์ Q เพื่อความเป็นอยู่ของเกษตรกรที่ดีขึ้น รวมไปถึงการสร้างสังคมและทรัพยากรเกษตรที่ยั่งยืน

สำหรับงานสถาปนา ครบรอบปีที่ 22 มกอช. จัดขึ้นภายใต้ธีม “Go Green Go Global: ขับเคลื่อนมาตรฐานสินค้าเกษตร สร้างความยั่งยืนสู่สากล” เพื่อตอกย้ำถึงแนวทางการดำเนินงานของ มกอช. ที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบายของรัฐบาลและนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกทั้งเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และยกระดับพัฒนางานด้านการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ดังนี้

Go Green การทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ด้วยมาตรฐานสินค้าเกษตรที่ยั่งยืน มกอช. ได้จัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรอย่างยั่งยืน เพื่อให้ระบบการผลิต การแปรรูป การจัดจำหน่ายผลผลิต คำนึงและรักษาไว้ซึ่งระบบนิเวศ สภาพแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้บริโภค ตลอดจนพัฒนางานด้านการมาตรฐานตามหลัก BCG Model เพื่อขับเคลื่อนภาคการเกษตรตลอดห่วงโซ่คุณภาพ (Value Chain) ให้เติบโต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อน ภายใต้นโยบายจัดการทรัพยากรทางการเกษตรทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Go Green) ด้วย BCG และ Carbon Credit ซึ่งในปี ที่ผ่านมา มกอช. ได้มีการดำเนินการกำหนดมาตรฐาน และโครงการที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการทำการเกษตรที่ยั่งยืน ได้แก่ โครงการพัฒนาต้นแบบการผลิตข้าวยั่งยืน ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิต มีความรู้ ความเข้าใจ ตามข้อกำหนดของมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง ข้าวยั่งยืน (มกษ. 4408-2565) โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวยั่งยืนขาณุโมเดล จังหวัดกำแพงเพชร และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปข้าว ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครพนม มุกดาหาร และสกลนคร ระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) ในพื้นที่ 16 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย ลำปาง ขอนแก่น มหาสารคาม นครสวรรค์ กำแพงเพชร นครนายก สระแก้ว จันทบุรี ระยอง แพร่ อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ลพบุรี สุราษฎร์ธานี และแม่ฮ่องสอน มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีปลอดการเผาสำหรับข้าวโพดเมล็ดแห้ง และได้ยกร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตพืชปลอดการเผา โครงการศึกษาการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร เพื่อเตรียมความพร้อมทางการค้าและพัฒนาการผลิตอย่างยั่งยืนผ่านแว็บแอปพลิเคชัน https://co2cal.acfs.go.th และโครงการวิจัย “การศึกษาแนวทางและจัดทำข้อเสนอกรอบนโยบายระดับชาติในการปฏิบัติตามกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการจัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR)” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)

Go Global การสร้างระบบให้มีมาตรฐาน สร้างการมีส่วนร่วมเพื่อการยอมรับสู่สากล: มกอช. ได้ดำเนินการสร้างการมีส่วนร่วมให้กับภาคการผลิต และการตรวจรับรองมาตรฐาน รวมถึงการควบคุมและตรวจติดตามอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สินค้าเกษตรมีคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยก่อนถึงมือผู้บริโภค โดยใช้สัญลักษณ์ Q ที่แสดงถึงผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ความปลอดภัย และเป็นไปตามมาตรฐานระบบการผลิต ได้แก่ มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ (มกษ. 9070 – 2566): ล้งทุเรียน ซึ่งเป็นมาตรฐานบังคับ ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2568 ระบบการรับรองผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่โดยการประยุกต์ใช้ระบบการประเมินผู้ส่งมอบ (Supplier Audit) กระบวนการผลิตเมล็ดกาแฟ ระบบการควบคุม กำกับดูแล และตรวจสอบด้านมาตรฐานบังคับ ซึ่งได้แก่ โครงการกำกับดูแลสินค้าเกษตรตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 โครงการเฝ้าระวังความปลอดภัยในสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ โครงการเฝ้าระวังความปลอดภัยในสินค้าเกษตรตามมาตรฐานทั่วไป การตรวจสอบการใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร การขออนุญาตและการแจ้งนำเข้าส่งออก ผ่านระบบ TAS-License การสร้างช่องทางออนไลน์ในการจำหน่ายสินค้าเกษตรมาตรฐานผ่านเว็บไซต์สินค้าเกษตรมาตรฐาน-ออนไลน์ (DGTFarm) และระบบตามสอบสินค้าเกษตรระบบคลาวด์ (QR Trace on Cloud)

“ในปีที่ผ่านมา มกอช. มุ่งมั่นพัฒนาองค์กรด้านการมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรมูลค่าสูง และความเป็นอยู่ของเกษตรที่ดีขึ้น ซึ่งสามารถการันตีผ่านรางวัลเลิศรัฐ ที่สำนักงาน ก.พ.ร มอบให้กับหน่วยงานของรัฐที่ผลการพัฒนาคุณภาพ การให้บริการที่ดี โดยในปี 2567 มกอช. ได้รับรางวัลดังกล่าว จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ ประเภทคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 (PMQA 4.0) ระดับก้าวหน้า และสาขาบริการภาครัฐ ประเภทบูรณาการข้อมูลรูปแบบดิจิทัลจากผลงาน การขอใบอนุญาตและการแจ้งนำเข้า-ส่งออกผ่านระบบ TAS-License ซึ่งเป็นการตอกย้ำความสำเร็จของการเป็นหน่วยงานที่มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนอย่างมืออาชีพ” ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กล่าว