ยูเนสโก ประกาศรับรอง “นวดไทย” ขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ประจำปี ๒๕๖๒
(๑๓ ธ.ค. ๖๒ วัดโพธิ์) นายอิทธิพล คุณปลื้มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลตามภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ของยูเนสโก ครั้งที่ ๑๔ ระหว่างวันที่ ๘ – ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๒ ณ กรุงโบโกตา สาธารณรัฐโคลอมเบีย มีวาระประกาศผลการพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ The Intangible Cultural Heritage(ICH) ประจำปี 2019 จำนวนรวม ๕๑ รายการ ประกอบด้วย –Urgent List (๖ รายการ) –Representative List (๔๒ รายการ) และ –Good Practice List (๓ รายการ)
โดยนวดไทย จัดอยู่ในกลุ่ม Representative List of ICH หรือ รายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ซึ่งในที่ประชุมมีมติรับรองและประกาศให้ “นวดไทย” NUAD THAI ขึ้นทะเบียนในรายการดังกล่าว หลังจากประเทศไทยได้เข้าร่วมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๙ ในลำดับสมาชิกที่ ๑๗๐ “นวดไทย” เป็นมรดกฯ ของไทย รายการที่สอง ที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนกับยูเนสโก ต่อจากรายการ “โขน” ที่ขึ้นไปแล้วเมื่อปลายปี ๒๕๖๑
การเสนอนวดไทย ในปี ๒๕๖๒ สืบเนื่องจาก ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ครั้งที่ ๓/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ มีมติเห็นชอบการจัดทำข้อมูลโขนและนวดไทย เพื่อเตรียมการเสนอเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๐ ตามเอกสารนำเสนอนวดไทย (ภายใต้ชื่อ NUAD THAI) ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก นายอิทธิพล กล่าวต่อว่า ด้วยนวดไทย ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาที่เป็นศาสตร์และศิลป์ทางการแพทย์ดั้งเดิมเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมท้องถิ่นและพระพุทธศาสนา และเป็นการรักษาทางเลือกควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพตามแบบแผนตะวันตกสมัยใหม่ มีองค์กรที่ส่งเสริมและพัฒนาการนวดมากกว่า ๕๐ องค์กร อาทิ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย รวมถึงภาควิชาชีพ ได้แก่ สภาการแพทย์แผนไทย และยังมีสถาบันการเรียนการสอน สถานประกอบการเพื่อสุขภาพทั่วประเทศ มีการใช้นวดไทยในการดูแลสุขภาพในครัวเรือนและชุมชนทั่วทุกภาคของประเทศ มีหมอนวดพื้นบ้านทั้งประเทศรวม ๒๕,๒๐๕ คน มีบุคลากร สถานประกอบการเอกชนที่ให้บริการนวดไทยเพื่อการบำบัดและฟื้นฟูสุขภาพทุกจังหวัด
.
นวดไทย นอกจากจะได้รับความนิยมในประเทศไทย แล้ว เว็บไซต์เดลี่เมล์ สำนักข่าวชื่อดังของอังกฤษ รายงานว่า ก่อนที่ยูเนสโกจะประกาศให้นวดไทยเป็นมรดกโลกทางภูมิปัญญาอย่างเป็นทางการนั้น การนวดไทย ศาสตร์การแพทย์แผนโบราณที่มีอายุมากกว่า ๒,๐๐๐ ปีของไทย เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้ความนิยมเดินทางมาใช้บริการแล้ว มีจำนวนมากที่สมัครเรียนนวดแผนไทยในสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะที่วัด
วัดโพธิ์ มีผู้สำเร็จวิชานวดแผนไทยตำรับวัดโพธิ์ไปแล้วมากกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คน จาก ๑๔๕ ประเทศทั่วโลก เป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้เป็นจำนวนมากแก่หมอนวดแผนไทยตามเมืองใหญ่ทั่วโลก เช่น นิวยอร์กลอนดอน และฮ่องกง
.
นายอิทธิพล ยังเปิดเผยว่า ที่ นวดไทย ได้รับการรับรอง ด้วยมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์การพิจารณาของยูเนสโก ประกอบด้วย ๑) นวดไทยสอดคล้องกับลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ตามที่นิยามไว้ในมาตรา ๒ ของอนุสัญญาฯ จัดอยู่ในสาขาความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล เป็นภูมิปัญญาที่มีพัฒนาการเริ่มในระดับครอบครัวและชุมชนเกษตรกรรม และพัฒนาต่อเนื่องมาจนเป็นศาสตร์ในการดูแลสุขภาพที่ใช้มือหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกายในการปรับพลังและโครงสร้างของร่างกายโดยไม่ใช้ยา เพื่อบำบัดความเจ็บป่วยที่เกิดจากลมในเส้นติดขัด และทำให้ธาตุทั้ง ๔ ในร่างกายเป็นปกติ ๒) การขึ้นทะเบียนนวดไทยจะเป็นประโยชน์และส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แสดงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างกว้างขวางทั่วโลก และสะท้อนถึงความสามารถในการสร้างสรรค์ของมนุษย์ จะกระตุ้นให้นานาชาติสนใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหมอนวดไทย คนในชาติร่วมกันปกป้องภูมิปัญญาการนวดไทยไม่ให้ถูกนำไปใช้ในทางเสื่อมเสีย นอกจากนี้ยังส่งเสริมการพัฒนา อาทิ การคิดค้นอุปกรณ์ช่วยนวดที่เหมาะสมกับกลุ่มชน ๓) มีมาตรการส่งเสริมและรักษาอย่างละเอียด ที่สามารถคุ้มครองและส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาฯ นั้นได้ โดยรัฐไทยมีการรับรองสถานภาพทางกฎหมายของภูมิปัญญาการนวดไทย โดยได้วางระบบการคุ้มครองสิทธิในภูมิปัญญาทั้งที่เป็นของชาติและของบุคคล กำหนดมาตรฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับการนวดไทย ทั้งด้านหลักสูตรการเรียนการสอน ด้านผู้นวด ด้านการให้บริการ และด้านสถานที่ให้บริการ รวมทั้งสนับสนุนการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน
และคุณสมบัติที่สำคัญ คือ ๔) ชุมชน กลุ่มคน และ ปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วม ได้รับทราบ
ให้ความเห็นชอบและยินยอมพร้อมใจอย่างกว้างขวาง ในการเสนอนวดไทย ซึ่งมีการดำเนินการใน ๔ ด้านประกอบด้วย การประชุมรับฟังความคิดเห็นทั้ง ๔ ภูมิภาค จำนวน ๖ ครั้ง ซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่รัฐ หมอนวดไทย นักวิชาการ องค์กรภาคประชาสังคม มีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการระดับชาติ ๓ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับนวด โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบและประธานคณะกรรมการเป็นผู้ลงนามในใบยินยอม มีการลงพื้นที่ชุมชนที่ดำเนินงานนวดไทย ๑๐ พื้นที่ และเครือข่ายที่ทำงานด้านนวดไทย ได้จัดประชุมในชุมชนของตนเอง ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมในทุกพื้นที่ร่วมลงนามใบยินยอมด้วยความสมัครใจ ๕) นวดไทย ได้ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศไทย โดยกระทรวงวัฒนธรรม ในสาขาความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล ประเภทการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้าน เมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔แล้ว
นายอิทธิพล กล่าวทิ้งท้ายว่า การเสนอขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมฯ ของไทย กับยูเนสโกนี้ ถือเป็นการดำเนินงานตามพันธกรณีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ถือเป็นสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ และเป็นการพัฒนาการส่งเสริมรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของไทยให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้วยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้ปฏิบัติและผู้สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม รวมทั้งเป็นการยืนยันบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก โดยประเทศไทยจะถูกจารึกไว้ในรายชื่อประเทศที่ตระหนักและเห็นคุณค่าชนกลุ่มน้อยและชุมชนระดับนานาชาติ และจะไม่ทำอะไรที่มีผลเสียต่อมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เช่น การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์แบบไม่เหมาะสม ทั้งนี้ การขอขึ้นทะเบียนรายการนวดไทยต่อยูเนสโก จึงเป็นการกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์ สืบทอด สร้างความหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรมนวดไทย อันจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศไทย อีกด้วย