พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ และคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออก พร้อมมอบนโยบายแก้ไขปัญหาน้ำอย่างยั่งยืน
เช้าวันนี้(15 พ.ค. 63) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณรองนายกรัฐมนตรี และคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์อธิบดีกรมชลประทาน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน และนายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านบำรุงรักษา) พร้อมด้วยผู้เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำ– ประแสร์และแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้งภาคตะวันออกณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ อำเภอ– วังจันทร์ จังหวัดระยอง
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกน้อยกว่าค่าปกติในช่วงฤดูฝนปี 2562 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ และแหล่งน้ำต่างๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออก อยู่ในเกณฑ์น้อยและไม่เพียงพอที่สนับสนุนกิจกรรมการใช้น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยเฉพาะเขื่อนประแสร์ จังหวัดระยอง ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการจัดสรรน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำต่างๆในพื้นที่ EEC มีปริมาณน้ำเหลืออยู่เพียง 23 ล้าน ลบ ม. เท่านั้น
กรมชลประทาน ได้ดำเนินการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำประแสร์ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำทั้งระบบในพื้นที่ EEC ด้วยการปันน้ำจากลุ่มน้ำวังโตนด ปริมาณ 10 ล้าน ลบ.ม. มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ ในช่วงเดือน มี.ค. 63 ที่ผ่านมา พร้อมปรับปรุงคลองส่งน้ำเพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำรั่วซึมลงดิน รวมทั้งยังปรับแผนลดการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำ-ประแสร์ ส่งไปจังหวัดชลบุรี โดยใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร 10 ล้าน ลบ.ม. ผันมายังอ่างเก็บน้ำบางพระ เพื่อส่งให้ผลิตน้ำประปาในจังหวัดชลบุรี นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากบริษัท อีสต์วอเตอร์ฯ ทำการก่อสร้างระบบสูบกลับน้ำชั่วคราว จากคลองสะพานไปยังอ่างเก็บน้ำประแสร์ ประมาณวันละ 50,000 – 170,000 ลบ.ม. ส่งผลให้ปัจจุบันสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำประแสร์ ได้อย่างเพียงพอไปจนถึงเดือน มิ.ย. 63
นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้ปรับแผนโครงการก่อสร้างระบบสูบกลับคลองสะพานมายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ ที่เดิมมีแผนจะดำเนินการในปี 2564 นำมาดำเนินการให้เร็วขึ้นในปี 2563 เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ไว้ใช้ในปีถัดไป พร้อมบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำต่างๆ ในพื้นที่EEC ให้สอดคล้องกันทั้งระบบ และยังได้เร่งก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำวังโตนด 4 อ่างฯ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำเป็นน้ำต้นทุนหล่อเลี้ยง EEC ได้อย่างเพียงพอและยั่งยืน ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างแล้ว 3 อ่างฯ ยังไม่สามารถก่อสร้างได้อีก 1 อ่างฯ คืออ่างเก็บน้ำวังโตนด เนื่องจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ให้กรมชลประทานกลับมาพิจารณา EHIA ในประเด็นด้านการอนุรักษ์เพิ่มเติม
ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านน้ำ และส่งเสริมเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้อย่างยั่งยืน