เปิดเวทีเสวนาเตรียมรับมือฤดูฝน “ชี้ชะตาสถานการณ์น้ำประเทศไทย 2024 ในภาวะภูมิอากาศแปรปรวน”

0
55960

สมาคมนักอุทกวิทยาไทย เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ด้านอุตุ-อุทกวิทยา ชี้แนวทางบริหารจัดการน้ำประเทศไทยและเตรียมรับมือฤดูฝนปี 2567 รองรับความแปรปรวนของสภาพอากาศโลกจากผลกระทบของสภาวะโลกร้อน ซึ่งในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงนี้ ประเทศไทยมีแนวโน้มมีปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติและอาจเกิดอุทกภัยได้

วันนี้ (17 พฤษภาคม 67) กรมชลประทาน สมาคมนักอุทกวิทยาไทย ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมชลประทาน ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเวทีเสวนา “ชี้ชะตาสถานการณ์น้ำประเทศไทย 2024 ในภาวะภูมิอากาศแปรปรวน”
ที่หอประชุมชูชาติ กำภู สถาบันพัฒนาการชลประทาน ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในการเตรียมพร้อมวางแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนของประเทศไทย ในภาวะภูมิอากาศแปรปรวนรุนแรง ปี 2567 โดยได้รับเกียรติจาก นายวิวัธน์ชัย คงลำธาร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา กรมชลประทาน เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และนายสัญชัย เกตุวรชัย นายกสมาคมนักอุทกวิทยาไทย เป็นประธานกล่าวปิดงานนอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน ภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และกรรมการสมาคมฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ ร่วมกับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน ได้แก่ ดร.สมชาย ใบม่วง ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยา และกรรมการสมาคมฯ ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ และที่ปรึกษาสมาคมฯ ดร.สุรสีห์ กิติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน และ ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาแหล่งน้ำ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการสมาคมฯ เพื่อให้ความรู้และข้อมูลวิชาการที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งข้อเสนอแนะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนแนวทางการปฏิบัติที่จะนำไปเป็นแนวทางในการป้องกันและบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำในช่วงฤดูฝนของประเทศไทย

นายวิวัธน์ชัย คงลำธาร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา กรมชลประทาน กล่าวว่า เนื่องจากสภาพอากาศของโลกในปัจจุบันได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน ทำให้สภาพอากาศมีความแปรปรวนรุนแรง โดยเฉพาะในทศวรรษที่ผ่านมา ได้เกิดปัญหาทั้งภัยแล้งและอุทกภัยรุนแรงในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยเราก็ได้รับอิทธิพลจากสภาวะโลกร้อน รวมไปถึงได้รับอิทธิพลโดยตรงจากปรากฏการณ์เอนโซ เกิดเป็นปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังแรงตั้งแต่ช่วงกลางปี 2566 ที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงมากผิดปกติ ส่งผลให้เกิดปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ ปัจจุบันปรากฏการณ์เอนโซได้อ่อนกำลังลงและเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน และมีความน่าจะเป็นที่จะเข้าสู่สภาวะลานีญาในเดือนมิถุนายนต่อเนื่องไปจนกระทั่งสิ้นสุดฤดูฝนปี 2567 ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสที่จะเกิดฝนตกมากกว่าค่าปกติ รวมทั้งมีโอกาสสูงมากที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนพัดผ่านเข้าประเทศไทยในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม อาจทำให้ฤดูฝนปี 2567 เกิดปัญหาอุทกภัยขึ้นได้

“ซึ่งสมาคมนักอุทกวิทยาไทยจัดเสวนาวิชาการในครั้งนี้ เพื่อนำเสนอข้อมูลและเสริมสร้างความเข้าใจในสภาพภูมิอากาศและการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสม โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านอุตุ-อุทกวิทยา และหน่วยงานที่กำกับด้านบริหารจัดการน้ำของประเทศ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แลกเปลี่ยนความรู้และแนวคิดต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานป้องกันและบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ เพื่อลดภัยพิบัติด้านน้ำของประเทศต่อไป” ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน นายสัญชัย เกตุวรชัย นายกสมาคมนักอุทกวิทยาไทย กล่าวว่า จากข้อสรุปเบื้องต้น แนวโน้มภาพรวมประเทศไทยจะมีฝนดีและตกต่อเนื่องตลอดช่วงฤดูฝนนี้ ซึ่งบางพื้นที่อาจมีปริมาณฝนใกล้เคียงหรือสูงกว่าค่าปกติเล็กน้อย ยกเว้นภาคใต้ฝั่งตะวันตกที่อาจมีฝนสูงกว่าค่าปกติมาก อาจทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยได้ ปัจจุบันได้มีการเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนปี 2567 โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. จะเป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ส่วนกรมชลประทานที่มีเครื่องมือต่าง ๆ ในการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำทั่วทุกภาคของประเทศ ได้เตรียมเครื่องมือ เครื่องจักรกล และเจ้าหน้าที่ไว้พร้อมรับสถานการณ์อย่างเต็มกำลังแล้ว นอกจากนี้ ยังมีคณะอนุกรรมการติดตามวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำที่ประกอบไปด้วยหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำของประเทศ จะทำหน้าที่ติดตามวิเคราะห์ปัญหาและแนวทางแก้ไขสถานการณ์น้ำ ก่อนนำเสนอให้ สทนช.รับทราบและพิจารณากำหนดแนวทางดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม การร่วมมือกันนำพาประเทศไทยให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้ด้วยดี ทุกภาคส่วนจะต้องบูรณาการร่วมกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อบรรเทาและลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด