คกก.มาตรฐานสินค้าเกษตร เห็นชอบร่างมาตรฐานมะม่วง-อะโวคาโด-น้ำผึ้งชันโรง และ GHPs การผลิตข้าวโพดหมัก-ศูนย์รวบรวมน้ำผึ้ง-โรงฆ่าสัตว์ มุ่งยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพปลอดภัย

0
62550

วันที่ 26 มิ.ย.67 นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ครั้งที่ 2/2567 ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานการดำเนินการของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับหลักปฏิบัติสำหรับการผลิตเชื้อเห็ดเป็นมาตรฐานบังคับ พ.ศ. 2560 พ.ศ. …. และร่างประกาศคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาต การขอใบแทนใบอนุญาตและการออกใบแทนใบอนุญาต และการขออนุญาตและการอนุญาตย้ายสถานที่ทำการที่ระบุไว้ในใบอนุญาตของผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐาน

นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาเห็นชอบยกร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร จำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ 1.มะม่วง (ทบทวน) 2.อะโวคาโด 3.การปฏิบัติทางสุขลักษณะที่ดีสำหรับการผลิตข้าวโพดหมัก 4.การปฏิบัติทางสุขลักษณะที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมน้ำผึ้ง 5.น้ำผึ้งชันโรง และ 6.การปฏิบัติทางสุขลักษณะที่ดีสำหรับโรงฆ่าสัตว์ (ทบทวน) ทั้งนี้ เพื่อดำเนินการประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไปของประเทศต่อไป

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการ มกอช. กล่าวเสริมว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างมาตรฐาน 6 เรื่อง ได้แก่ 1.มะม่วง (ทบทวน) จากที่ปี 2558 มกอช. ได้ประกาศใช้มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง มะม่วง เป็นมาตรฐานของประเทศ แต่ด้วยสถานการณ์การผลิตและการค้าที่เปลี่ยนแปลงไปรวมถึงมีพันธุ์ทางการค้าเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการทบทวนมาตรฐานมะม่วง โดยได้เพิ่มเติมข้อกำหนดเกี่ยวกับความอ่อน-แก่ของมะม่วง ในพันธุ์ที่ผลิตเป็นการค้า เช่น น้ำดอกไม้สีทอง มหาชนก โชคอนันต์ และอาร์ทูอีทู เพื่อจำหน่ายในรูปผลิตผลสดแก่ผู้บริโภคทั้งผลดิบและผลสุก แต่ไม่รวมมะม่วงที่ใช้แปรรูปในอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางการค้าในระดับประเทศและระหว่างประเทศ 2.อะโวคาโด ปัจจุบันมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ หรือ Codex ได้ประกาศมาตรฐานฯ อะโวคาโด สำหรับบริโภคสด และอยู่ระหว่างจัดทำร่างมาตรฐานฯ น้ำมันอะโวคาโด เพื่อใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงการค้าระหว่างประเทศ และอาเซียน จึงได้จัดทำมาตรฐานอะโวคาโด เพื่อเป็นแนวทางการส่งเสริมสินค้าเกษตรให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และเพิ่มโอกาสทางการค้าให้กับประเทศ

3.การปฏิบัติทางสุขลักษณะที่ดีสำหรับการผลิตข้าวโพดหมัก เนื่องจากสถานการณ์ภาวะภัยแล้งมีผลให้ขาดแคลนวัตถุดิบ ซึ่งทำให้มีการนำเข้าจากต่างประเทศ ส่งผลกระทบให้ราคาอาหารสัตว์สูงขึ้น เกษตรกรจึงต้องรับภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ข้าวโพดหมัก จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการผลิตอาหารที่มีคุณภาพสำหรับเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้อง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นเพื่อส่งเสริมให้มีมาตรฐานที่สามารถใช้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับการผลิตข้าวโพดหมักที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเหมาะสมสำหรับนำไปเป็นอาหารสัตว์ 4. การปฏิบัติทางสุขลักษณะที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมน้ำผึ้ง อุตสาหกรรมน้ำผึ้งมีแนวโน้มขยายตัวทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562-2566 ประเทศไทยมีปริมาณการส่งออกน้ำผึ้งมากกว่า 47,776 ตัน มูลค่ากว่า 3,631 ล้านบาท ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินโดนีเชีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงเห็นควรให้กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรให้ครบทั้งห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ระบบการผลิตในระดับฟาร์ม กระบวนการแปรรูป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเชิงพาณิชย์ โดยการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติทางสุขลักษณะที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมน้ำผึ้งฉบับนี้ ใช้แนวทางตามมาตรฐาน General Principles of Food Hygiene; CXC 1-1969 ของ Codex ฉบับใหม่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตและการแข่งขันของน้ำผึ้งไทยในตลาดส่งออกอีกด้วย

5.น้ำผึ้งชันโรง ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งชันโรงมากกว่า 2,828 ราย กระจายอยู่ทุกภาคของประเทศไทย ให้ผลผลิตน้ำผึ้งชันโรงมากกว่า 25 ตัน/ปี ผึ้งชันโรงเลี้ยงง่าย มีความต้านทานต่อโรคดี ไม่ต้องการการดูแลมาก และใช้ต้นทุนในการเลี้ยงต่ำ ผลิตภัณฑ์จากผึ้งชันโรง ได้แก่ น้ำผึ้งชันโรง และชัน (propolis) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีราคาสูง เฉลี่ย 1,500-2,500 บาท/กิโลกรัม จึงเป็นสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพในการพัฒนาต่อไป ซึ่งการจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง น้ำผึ้งชันโรงเพื่อช่วยส่งเสริมและยกระดับการผลิตน้ำผึ้งให้มีคุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหาร และยังสามารถใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงทางการค้าและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค และ 6. การปฏิบัติทางสุขลักษณะที่ดีสำหรับโรงฆ่าสัตว์ (ทบทวน) มกอช. ได้ประกาศใช้มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงฆ่าสัตว์ (มกษ. 9004-2547) ซึ่งครอบคลุมการฆ่าสัตว์ที่ถูกสุขลักษณะและคำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ ตลอดจนให้ข้อมูลวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมในโรงฆ่าสัตว์ เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติและตรวจรับรอง ปัจจุบันมีการปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าสัตว์เพื่อนำไปบริโภค และ Codex ได้ทบทวนมาตรฐาน เรื่อง หลักการทั่วไปด้านสุขลักษณะอาหาร (General Principles of Food Hygiene; CXC 1-1969) จึงเห็นควรให้ทบทวนมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่องดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและเกณฑ์กำหนดทางการค้าในปัจจุบัน ทำให้มั่นใจถึงความปลอดภัยด้านอาหารรวมทั้งลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ของไทยต่อไป