ชป.เฝ้าระวังนาปรัง รณรงค์ขอความร่วมมืองดทำนาปรังรอบสอง หวั่นเสี่ยงผลผลิตเสียหาย

0
51490

เช้าที่ผ่านมา(5 ก.พ. 67) ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู  กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ธเนศร์  สมบูรณ์  ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา  เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา เข้าร่วมประชุมผ่านระบบ  Video Conference ทั้งนี้ เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป

สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (5 ก.พ. 67) พบว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 54,440 ล้าน ลบ.ม. (71% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 15,435 ล้าน ลบ.ม. (62% ของความจุอ่างฯ รวมกัน)

ด้านการทำนาปรัง พบว่าทั้งประเทศมีการทำนาปรังไปแล้ว 8.19  ล้านไร่ เกินแผนที่วางไว้ฯ กว่าร้อยละ 40  เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการทำนาปรังไปแล้วประมาณ  5.54 ล้านไร่ เกินแผนที่วางไว้ฯ กว่าร้อยละ 80 จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ต้องปรับแผนจัดสรรน้ำเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนพื้นที่ที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว  จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำไปแล้วทั่วประเทศประมาณ 11,786 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 48 ของแผนฯ  เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 4,127   ล้าน ลบ.ม.  หรือร้อยละ  48 ของแผนฯ โดยหลังจากที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ จะพิจารณาปรับลดการระบายน้ำลง เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ รวมทั้งสำรองไว้ใช้ช่วงต้นฤดูฝนหน้า เป็นหลัก จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกร โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาที่เก็บเกี่ยวนาปรังรอบแรกแล้วเสร็จ ขอให้งดทำนาปรังรอบสอง เพื่อลดความเสี่ยงที่ผลผลิตจะเสียหายจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ  พร้อมกำชับไปยังโครงการชลประเทศทั่วประเทศ  ให้ติดตามสภาพอากาศและการคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด  เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำรายพื้นที่ได้อย่างสอดคล้องและเหมาะสม  ที่สำคัญให้ทำการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง