มกอช.ร่วมกับศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่ ยกระดับกลุ่มผู้ปลูกกาแฟบนพื้นที่สูง เข้าสู่ระบบมาตรฐาน

0
55744

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธาน ในการทรงงานเพื่อจะสืบสาน รักษาและต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวพระราชดำริต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช พระบรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นเวลากว่า 50 ปี ที่มูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งเป็นโครงการในพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช พระบรมนาถบพิตร ได้ขจัดปัญหาการปลูกฝิ่น พัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎร และชาวเขา ให้มีความอยู่ดี กินดี รวมทั้ง ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม บนพื้นที่สูงให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ ปลอดภัย และมีความมั่นคง โดยที่ผ่านมา มกอช. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในด้านการสนับสนุนการเข้าสู่ระบบการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน


ทั้งนี้ มกอช. โดยกองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร กลุ่มโครงการพิเศษ ได้ร่วมกับศูนย์พัฒนาโครงการหลวง แม่สาใหม่ จัด “โครงการพัฒนาคุณภาพกาแฟเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการแปลงกาแฟ และกระบวนการผลิตกะลากาแฟคุณภาพ ให้กับกลุ่มผู้ปลูกกาแฟบนพื้นที่สูง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโป่งแยงนอก ม่อนจิ๊ง กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่โครงการเกษตรวิชญา และเจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่

ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับความรู้ และร่วมแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น จากวิทยากรที่มากประสบการณ์ อาทิ เรื่องแนวทางการจัดการกลุ่มกาแฟของมูลนิธิโครงการหลวง และ กระบวนการผลิตกะลา กาแฟคุณภาพ โดยนายอรรพร เปรมัษเฐียร หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่, เรื่องมาตรฐานกาแฟและ GAP กาแฟ (การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับกาแฟ มกษ. 5903-2553) โดยนางสาวชุติมา ศรสำราญ นักวิชาการมาตรฐานชำนาญการ มกอช. รวมทั้งเรื่องการจัดการแปลงกาแฟ และการแก้ไขปัญหาศัตรูกาแฟ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโรคแมลง โดยผู้แทนจากบริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด

“อย่างไรก็ดี มกอช. มุ่งมั่นที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่โครงการเกษตรวิชญา และพื้นที่มูลนิธิโครงการหลวง ได้รับความรู้ความเข้าใจการพัฒนาคุณภาพกาแฟ การบริหารจัดการแปลงกาแฟ และกระบวนการผลิตกะลากาแฟคุณภาพ ตามมาตรฐานการเกษตรที่ดีสำหรับกาแฟ” เลขาธิการ มกอช. กล่าว