รมว.ธรรมนัสฯ นำทีมกระทรวงเกษตรลงพื้นที่แก้ปัญหาข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ยกระดับชีวิตพี่น้องเกษตรกรถิ่นเมืองช้าง

0
62625

วันนี้(1ก.ค.67) ณ ท่าอากาศยานสุรินทร์ภักดี จังหวัดสุรินทร์ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานภายใต้ภารกิจกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ พร้อมมอบเมล็ดพันธุ์ข้าวและโฉนดที่ดินเพื่อการเกษตรให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ โดยมี นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน นายสมชาย อังศิริลาวัลย์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสุรินทร์ นายวสันต์ พรหมดีสาร ผู้อำนวยการโครงการชลประทานร้อยเอ็ด และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย

ทั้งนี้ ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นที่ราบขนาดใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ประมาณ 2 ล้านไร่ ติดกับแม่น้ำมูลและลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูล อาทิ ลำเสียวน้อย ลำเสียวใหญ่ ลำพังชู ลำพลับพลา ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด 13 อำเภอ ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิแหล่งใหญ่ที่สุดในประเทศได้แก่ จังหวัดมหาสารคาม (อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย) จังหวัดสุรินทร์ (อำเภอชุมพลบุรีและอำเภอท่าตูม) จังหวัดร้อยเอ็ด (อำเภอปทุมรัตต์ อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอสุวรรณภูมิ อำเภอโพนทราย และอำเภอหนองฮี) จังหวัดศรีสะเกษ (อำเภอศิลาลาด อำเภอราษีไศล อำเภอยางชุมน้อย อำเภออุทุมพรพิสัย อำเภอห้วยทับทัน และอำเภอบึงบูรพ์) จังหวัดยโสธร (อำเภอค้อวัง และอำเภอมหาชนะชัย) แต่เนื่องจากสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ ประกอบกับปริมาณฝนตกไม่ครอบคลุมทั่วพื้นที่ จึงมักเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูกข้าวในช่วงฤดูแล้งและปัญหาอุทกภัยในช่วงต้นของฤดูทำนาเป็นประจำ

กรมชลประทาน จึงได้วางแผนพัฒนาแหล่งน้ำในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ อาทิ การขุดลอกลำน้ำเสียวใหญ่ ลำน้ำเสียวน้อย ลำพลับพลา ลำเตา ลำห้วยหินลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในลำน้ำธรรมชาติให้เพียงพอตลอดทั้งปี รวมทั้งก่อสร้างประตูระบายน้ำและฝายในลำน้ำ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักและระบายน้ำ ช่วยป้องกันปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ เพื่อกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่การเกษตรได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการพัฒนาแก้มลิงสองฝั่งลำน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝน และใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับทุกกิจกรรมในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งหากเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด จะช่วยสร้างความมั่นทางด้านน้ำให้แก่พี่น้องเกษตรกรทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการเพาะปลูกข้าวหอมมะลิ เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ ยกระดับชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป