กรมการข้าวลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ย้อนรอยเส้นทางการผลิตข้าวเปลือกอินทรีย์ สู่สินค้าข้าวคุณภาพ

0
7861

จังหวัดสุรินทร์มีพื้นที่เกษตรกรรมอยู่ 3,705,743 ไร่ คิดเป็น 72% ของพื้นที่ทั้งหมด โดยมีเป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวปี 2563/64 จำนวน 2,888,900 ไร่ กระจายตามพื้นที่เป้าหมายครอบคลุมทั้ง 17 อำเภอ แยกเป็น ข้าวหอมมะลิ จำนวน 2,874,800 ไร่ ข้าวเจ้า 1,100 ไร่ และข้าวอินทรีย์ 13,000 ไร่

นายประสงค์ ทองพันธ์ ผู้อำนวยการกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ กรมการข้าว กล่าวว่า จังหวัดสุรินทร์เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่สำคัญแห่งหนึ่งในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ที่กรมการข้าวได้เข้ามาส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โดยขณะนี้มีกลุ่มเกษตรกรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานข้าวอินทรีย์หรือ Organic Thailand จำนวน 510 กลุ่ม เกษตรกร 9,460 ราย พื้นที่ 96,391.75 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 10% ของพื้นที่เป้าหมายทั้งหมด  1 ล้านไร่ และได้มีการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ จำนวน 183 กลุ่ม โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ ทำ MOU กับกลุ่มเกษตรกรในโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์  1 ล้านไร่ จำนวนทั้งสิ้น 9 บริษัท ได้แก่ บริษัท ข้าว ซี.พี.จำกัด บริษัท เจ พี ไรซ์ อินเตอร์เนชันแนล (1998) จำกัด บริษัท ไชยศิริ ไรซ์ อินเตอร์เทรด หจก.สุรินทร์ไชยศิริ สหกรณ์อินทรีย์ทัพไทย โรงสีข้าววิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลบุฤาษี สหกรณ์การเกษตรปราสาท จำกัด บริษัท พูนผล เทรดดิ้ง จำกัด บริษัท เอลล์บา บางกอก จำกัด


ทั้งนี้ กรมการข้าวได้ให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรฐานการผลิตข้าวอินทรีย์ จึงได้นำคณะผู้บริหารกรมการข้าวและสื่อมวลชนลงพื้นที่
ชมเส้นทางการผลิตข้าวเปลือกอินทรีย์ ไปจนถึงกระบวนการสีแปรออกมาเป็นสินค้าข้าวคุณภาพ มีมาตรฐานรับรองทั้ง Q และ Organic Thailand รวมทั้งสัญลักษณ์ข้าวพันธุ์แท้จากกรมการข้าว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่าข้าวทุกเมล็ดได้ผ่านกระบวนการผลิตที่ได้คุณภาพ มีความปลอดภัยและคุ้มค่ากับราคา

วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ ตำบลบุฤาษี อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เป็นหนึ่งกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิต และแปรรูปข้าวอินทรีย์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานสินค้าข้าว Q , Organic Thailand และข้าวพันธุ์แท้จากกรมการข้าว โดยนายตู้ สุขนึก ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ เล่าถึงที่มาว่า เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี 2547 จากพี่น้องที่มีความสนใจเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกข้าวอินทรีย์ ผักอินทรีย์ใช้บริโภคในครอบครัวเหลือก็จำหน่าย ต่อมาชาวบ้านในพื้นที่เห็นว่าดีจึงมาเข้าร่วมเป็นกลุ่มกสิกรรมธรรมชาติ และในปี 2556 กลุ่มโตขึ้นมีสมาชิก 47 คน และได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ ต.บุฤาษี ในการทำวิสาหกิจชุมชนใช้ทุนทรัพย์ของพวกตนเอง ปลูกเอง แปรรูป และขายเอง จนยืนหยัดอยู่ได้มาถึงปัจจุบันกลุ่มมีทรัพย์สินรวมทั้งหมดประมาณ 8 ล้านบาท มีสมาชิก 420 คน ปลูกข้าวอินทรีย์ให้ทางกลุ่มฯ มีโรงสีขนาดกำลังการผลิต 10 ตันต่อวัน มีโรงบรรจุที่ได้รับการรับรอง อย. GMP HACCP ได้รับการรับรองคุณภาพข้าวหอมมะลิสุรินทร์ GI และได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าข้าว Q , Organic Thailand และข้าวพันธุ์แท้จากกรมการข้าว

ปัจจุบันกลุ่มทำการตลาดทั้งในและต่างประเทศ สามารถส่งออกข้าวอินทรีย์ของจังหวัดสุรินทร์ไปต่างประเทศได้ปีละ 400 ตัน โดยกลุ่มมุ่งมั่นจะผลิตข้าวอินทรีย์ ส่งออกให้ได้ปีละ 1,000 ตัน ต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ทำให้กลุ่มมีความเข้มแข็งและอยู่ได้อย่างมั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้ คือ กลุ่มมีกฎระเบียบข้อบังคับที่ถือเป็นกฎเหล็กในการรับสมาชิกเข้าร่วมอย่างเข้มงวด เช่น ผู้จะเข้ามาต้องผ่านการปลูกข้าวอินทรีย์ 5 ปีก่อนถึงจะเป็นสมาชิกได้ และต้องคัดเลือกผู้ที่มีความรู้ความสามารถและความเข้าใจในการผลิตข้าวอินทรีย์เท่านั้น ซึ่งสมาชิกเริ่มแรกจะเป็นเพียงสมาชิกชั่วคราวก่อน 5 ปี หากผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการถึงจะเลื่อนเป็นสมาชิกถาวรที่สามารถถือหุ้นได้ เนื่องจากการทำนาอินทรีย์ต้องทุ่มเท การใช้ระยะปรับเปลี่ยนจากนาเคมีมาเป็นอินทรีย์ในระยะ 2-3 ปีจึงไม่เห็นผลถึงความตั้งใจและทุ่มเทมากพอ ทางกลุ่มจึงต้องมีกฎเคร่งครัดเพื่อคัดคนที่มีใจรักจริงๆ มาเข้าร่วมกลุ่ม นอกจากนี้จะมีการจัดอบรมทุกปีๆ ละ 2 ครั้งทั้งสมาชิกใหม่และสมาชิกเก่า มีการแบ่งหน้าที่กันทำงานอย่างชัดเจน ที่สำคัญมีกระบวนการตรวจสอบคุณภาพทั้งระบบทั้งจากสมาชิกกลุ่มกันเองและเจ้าหน้าที่กรมการข้าว อีกทั้งส่งตัวอย่างให้กับห้องปฏิบัติการกลาง หรือเซ็นทรัลแล็บ ตรวจสอบว่าเป็นข้าวอินทรีย์ 100% และไม่มีเชื้อราเจือปน ซึ่งการควบคุมมาตรฐานสินค้าข้าวของเราช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่าเป็นข้าวคุณภาพมาตรฐานอินทรีย์มีความปลอดภัยจริงๆ และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศ

ด้านนายฐิติวิชญ์ เศรษฐพัฒนชัย กรรมการผู้จัดการบริษัท เจ.พี.ไรซ์ อินเตอร์เนชั่แนล (1998) จำกัด 1 ในผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ของจังหวัดสุรินทร์ เล่าว่า จากการจำหน่ายข้าวทั้งในและต่างประเทศทำให้ทราบความต้องการของลูกค้าว่าต้องการข้าวที่มีคุณภาพมาตรฐานที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีความห่วงใยเรื่องสุขภาพมากขึ้น ทำให้ลูกค้ามองหาสินค้าข้าวที่เป็นข้าวอินทรีย์มากขึ้น พอรัฐบาลมีโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ ทางโรงสีได้เข้าร่วมโครงการโดยร่วมมือกับกรมการข้าวเพื่อให้มีการผลิตข้าวอินทรีย์ตามมาตรฐานสากลมากขึ้น โดยมีกลุ่มเกษตรกรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานข้าวอินทรีย์จากกรมการข้าว มาทำ MOU กับโรงสีของเราตกลงซื้อขายข้าวอินทรีย์ ซึ่งมีการตั้งเป้ารับซื้อข้าวประมาณ 500-1,000 ตันต่อปี ทางโรงสีจะมีการควบคุมคุณภาพข้าวเปลือกตั้งแต่แปลงนาของเกษตรกร โดยเกษตรกรที่จะขายข้าวให้กับโรงสีต้องมีการจดบันทึกข้อมูลและมีการยืนยันได้ว่าไม่มีการใช้สารเคมีจริงๆ ซึ่งกว่าจะเป็นข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่ผ่านมาตรฐาน Organic Thailand ได้นั้นต้องผ่านกระบวนการปรับเปลี่ยนถึง 3 ปี กว่าจะเปลี่ยนจากทำนาโดยใช้สารเคมีมาเป็นปลอดสารเคมีนั้นเกษตรกรต้องมีความอดทน ใจสู้ เพราะช่วงแรกค่อนข้างลำบากผลผลิตจะตกต่ำลง ทางโรงสีก็จะช่วยให้กำลังใจประคับประคองให้เขารอดพ้นระยะปรับเปลี่ยนจนผ่านการรับรองมาตรฐาน Organic Thailand ให้ได้ โดยข้าวหอมมะลิอินทรีย์จะรับซื้อในราคาที่สูงกว่าข้าวหอมมะลิทั่วไปประมาณ 2,000 บาทต่อตัน ตั้งเป้าปีการผลิตนี้จะรับซื้อไม่ต่ำกว่า 500 ตัน

ทางโรงสีข้าวเจพีไรซ์มีความตั้งใจอยากให้ผู้บริโภคชาวไทยได้กินข้าวหอมมะลิอินทรีย์ของดีมีคุณภาพและปลอดภัยมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะปีนี้เป็นปีแรกที่ผลผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ของเกษตรกรที่ร่วมโครงการข้าวอินทรีย์ 1 ล้านไร่ จากระยะปรับเปลี่ยนมาสู่ระยะที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Organic Thailand 100% จะเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นข้าวสารหอมมะลิอินทรีย์วางจำหน่ายในท้องตลาดมากขึ้น อยากขอให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าถ้าข้าวถุงไหนที่มีเครื่องหมาย Organic Thailand เครื่องหมาย Q และเครื่องหมายรับรองข้าวพันธุ์แท้จากกรมการข้าว ขอให้มั่นใจได้ว่าเป็นข้าวที่ปลอดสารเคมีจริงๆ มาจากแปลงของเกษตรกรและโรงสีที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ท้ายนี้อยากฝากถึงผู้บริโภคหากเห็นสินค้าข้าวตราชามทองวางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ เลือกซื้อได้เลยเพราะมีเครื่องหมายการันตีเป็นข้าวที่ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของไทยจริงๆ แล้วเราทำด้วยใจจริง ร่วมมือกับเกษตรกรเพื่อให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพปลอดภัยส่งตรงถึงมือผู้บริโภค