กรมชลประทานคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากงานก่อสร้างฯ เป็นสำคัญ

0
2040

กรมชลประทานคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากงานก่อสร้างฯ เป็นสำคัญ

 

นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่ากรมชลประทานได้มุ่งมั่นดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำ และการป้องกันบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนโดยรูปแบบการดำเนินงานก่อสร้างโครงการ มี 2 ประเภท คือ งานกรมดำเนินการเอง โดยใช้บุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือของกรมชลประทาน และงานจ้างเหมา ซึ่งได้ให้เอกชนเข้ามาดำเนินการแทนกรมชลประทาน สำหรับการควบคุมงานก่อสร้างโครงการทั้ง 2 ประเภท จะมีการกำกับ ติดตาม เร่งรัดให้งานแล้วเสร็จตามแผนงานโดยเร็ว

.

กรณีงานล่าช้ากว่าแผน ถ้าเป็นงานกรมดำเนินการเอง สามารถใช้อำนาจทางการบริหารปรับเปลี่ยนบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือได้ทันที แต่ถ้าเป็นงานจ้างเหมาต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญา จนท้ายสุดเมื่อมีเหตุอันเชื่อได้ว่าผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จได้ เช่น ปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามแผนงาน บุคลากรไม่เพียงพอ เครื่องจักร ไม่เพียงพอ และไม่เป็นไปตามแผนงานที่ได้เสนอให้คณะกรรมการเห็นชอบและผู้ว่าจ้างรับทราบ ก็จะมีการบอกเลิกสัญญาเพื่อหา ผู้รับจ้างรายใหม่ หรือเปลี่ยนแผนงานจากจ้างเหมาเป็นงานกรมดำเนินการเอง

.

แต่สำหรับงานที่มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนจะมีการปรับแผนมาเป็นงานกรมดำเนินการเอง เนื่องจากกรมชลประทานมีบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์เพียงพอและสามารถเร่งรัดงานให้แล้วเสร็จทันเวลา ยกตัวอย่างงานที่มีการบอกเลิกสัญญาและปรับเปลี่ยนวิธีดำเนินการเป็นงานกรมดำเนินการเอง ได้แก่

1. งานปรับปรุงคลองระบายน้ำ ร 1 พร้อมอาคารประกอบสัญญาที่ 1 โครงการบรรเทาอุทกภัย อ.หาดใหญ่ (ระยะที่ 2) จ.สงขลา วัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลอง ร.1 จากเดิม 465 ลบ.ม./วินาที เป็น 1,200 ลบ.ม./วินาที เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยบรรเทาอุทกภัยพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

2. โครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถบรรเทาอุทกภัยในเขต อ.เมือง จ.ตรัง พื้นที่ประมาณ 10,525 ไร่ และเก็บกักน้ำเพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค ประมาณ 3.2 ล้าน ลบ.ม.

3. โครงการอ่างเก็บน้ำแม่สอดตอนบน จ.ตาก เป็นการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก และบรรเทาอุทกภัยให้กับประชาชนในเขตเทศบาลนครแม่สอด

4. งานก่อสร้างอาคารบริหารจัดการน้ำบริเวณประตูระบายน้ำปลายคลองระพีพัฒน์ (ปตร.พระธรรมราชา) เป็นอาคารที่ใช้ควบคุมการบริหารจัดการน้ำในคลองระพีพัฒน์

ท้ายสุด นายประพิศ กล่าวว่า การดำเนินการไม่ว่าจะเป็นงานจ้างเหมา หรืองานกรมดำเนินการเอง จะถือปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมาย มติ ครม.ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ