กรมชลประทาน เดินหน้าส่งน้ำตามแผนฤดูแล้ง อย่างเพียงพอ กำชับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังฝนตกหนักภาคใต้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะจุดเสี่ยง

0
30305

ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบออนไลน์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ

รองอธิบดีกรมชลประทาน ระบุว่า ข้อมูลจนถึงวันที่28 พ.ย.65 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 63,841 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 84 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 39,883 ล้าน ลบ.ม. โดย เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกัน 20,858 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น ร้อยละ 84 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำใช้การได้ 14,162 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี

ด้านการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2565/2566 ได้มีการวางแผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศไว้รวม 27,685 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้ว 3,073 ล้าน ลบ.ม. หรือ ร้อยละ 12

ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการจัดสรรน้ำไว้ตามแผน 9,100 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 530 ล้าน ลบ.ม. หรือ ร้อยละ6

ส่วนผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ตามแผนประเทศ 11.06 ล้านไร่ ปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 1.42 ล้านไร่ หรือร้อยละ 13 สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยาแผนเพาะปลูกพืช 6.74 ล้านไร่มีการเพาะปลูกแล้วประมาณ 0.96 ล้านไร่ หรือ ร้อยละ14 ภาพรวมการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งยังเป็นไปตามแผนฯที่วางไว้

ขณะเดียวกัน พื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะเข้าสู่การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2565/2566 แล้ว ได้กำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ ที่มีปริมาณน้ำหลากในช่วงฤดูฝนและระดับน้ำลดลง เร่งเข้าสำรวจฟื้นฟูอาคารชลประทาน ระบบส่งน้ำต่างๆ ให้สามารถเก็บกักน้ำและส่งน้ำให้เกษตรกรได้เพาะปลูกตามปกติโดยเร็วที่สุด

ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่งที่ยังมีน้ำท่วมขัง ให้เร่งดำเนินการสูบน้ำออกจากพื้นที่เพื่อให้เกษตรกรได้เริ่มเพาะปลูกให้แล้วเสร็จทันตามกำหนด เพื่อไม่ให้กระทบกับการปรับปฏิทินการเพาะปลูกในฤดูนาปีหน้าต่อไป

สำหรับพื้นที่ภาคใต้ ที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า จะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงวัน 7 ธันวาคม 2565 นี้ จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ภาคใต้ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉาะพื้นที่จุดเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะเกิดน้ำล้นตลิ่ง ให้ติดตามสถานการณ์น้ำท่าจากสถานีวัดน้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้ทัน พร้อมจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ประจำจุดเสี่ยง