กรมชลฯ พร้อมรับมือฤดูฝน สั่งชลประทานทั่วประเทศปฏิบัติตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด

0
60592

วันนี้ (7 พ.ค. 67) ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (swoc) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (7 พ.ค.67) พบว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 41,010 ล้าน ลบ.ม. (54% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 17,070 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 10,921 ล้าน ลบ.ม. (44% ของความจุอ่างฯรวมกัน) เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 4,225 ล้าน ลบ.ม. และตั้งแต่ 1 พ.ค. 67 จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำช่วงฤดูฝนปี67 ทั้งประเทศไปแล้วกว่า 957 ล้าน ลบ.ม. (6% ของแผน) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 349 ล้าน ลบ.ม. (7% ของแผน)

ด้านสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำสายหลักยังคงต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา กรมชลประทาน ได้สนับสนุนรถบรรทุกน้ำและเครื่องสูบน้ำ เข้าช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบ พร้อมปรับเพิ่มการระบายน้ำจากทางพื้นที่ตอนบน เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนอีกครั้งในช่วงวันที่ 8-12 และ 25-29 พ.ค. 67 นี้

ทั้งนึ้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า จะเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงสัปดาห์ที่ 3-4 ของเดือนพฤษภาคม จึงได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ติดตาม และเฝ้าระวังสภาพอากาศ รวมทั้งสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด นำข้อมูลจากหน่วยงานพยากรณ์ที่เกี่ยวข้องมาวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ควบคู่ไปกับการเก็บกัก พร้อมปฏิบัติตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี67 ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) อย่างเคร่งครัด จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เข้าประจำจุดเสี่ยงสามารถเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยได้ทันที ตลอดจนตรวจสอบความมั่นคงของอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ ที่สำคัญให้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ตามข้อสั่งการของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์