กรมประมงจัดกิจกรรม ปล่อยกบลงนา ปล่อยปลาลงหนอง ฟื้นฟูลำคลองธรรมชาติ สร้างแหล่งอาหารให้ชุมชน

0
6998

 วันที่ 17 กรกฎาคม 2563 เวลา 09.30 น. ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง เป็นประธานกิจกรรม “ปล่อยกบลงนา ปล่อยปลาลงหนอง ฟื้นฟูลำคลองธรรมชาติ” ณ ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตร ต.บึงทองหลาง อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี เพื่อเป็นการขยายพันธุ์สัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง 

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนบางรายไม่ได้รับการจ้างงานต่อจึงทำให้ต้องกลับถิ่นที่อยู่อาศัยไปประกอบอาชีพเกษตรกรรม การลงนา ลงหนองน้ำ จึงเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของพี่น้องประชาชนชาวไทย ที่ใช้แสวงหาสัตว์น้ำจากธรรมชาติเพื่อการบริโภคและลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ปัจจุบันสัตว์น้ำในแหล่งน้ำสาธารณะลดจำนวนน้อยลง ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากการจับสัตว์น้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์จนธรรมชาติไม่สามารถผลิตได้ทันต่อความต้องการรวมถึงความเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งจากกิจกรรมของมนุษย์ ต่างล้วนแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำลดน้อยลงทั้งสิ้น

ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายของกรมประมง จังหวัดปทุมธานี ประกอบด้วย สำนักงานประมงจังหวัดปทุมธานี ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดปทุมธานี ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำปทุมธานี และศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดภาคกลาง(พระนครศรีอยุธยา) กำหนดจัดกิจกรรม “ปล่อยกบลงนา ปล่อยปลาลงหนอง ฟื้นฟูลำคลองธรรมชาติ” ขึ้น เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับแหล่งน้ำธรรมชาติ และช่วยสร้างให้มีแหล่งอาหารให้กับราษฎรในพื้นที่ โดยกิจกรรมนี้จะปล่อยพันธุ์ปลาและกบนา ที่ปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี พบได้น้อยลงเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปและจากกิจกรรมของเกษตรกรที่ใช้ปุ๋ยและสารเคมีในการปลูกพืช การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการตัดวงจรการแพร่ขยายพันธุ์และมีส่วนทำลายพันธุ์กบในธรรมชาติทั้งสิ้น  อีกทั้งระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ ทางสำนักงานประมงจังหวัดปทุมธานีจึงดำเนินการคัดเลือกพื้นที่นาอินทรีย์ของกลุ่มเกษตรที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ฯ เป็นพื้นที่นำร่องสำหรับดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้

กิจกรรมในวันนี้ กรมประมงได้คัดเลือกศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตร ต.บึงทองหลาง อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี เป็นพื้นที่จัดกิจกรรม โดยได้มีการปล่อยพ่อแม่พันธุ์กบ จำนวน 20 คู่ ลงในนาข้าว และปล่อยพันธุ์ปลาแก้มช้ำ และปลาตะเพียนทอง จำนวน 100,000 ตัว ลงแหล่งน้ำสาธารณะบริเวณใกล้เคียงพร้อมให้คำแนะนำข้อมูลทางวิชาการในด้านการเพาะเลี้ยงกบ ซึ่งหลังจากนี้ทางกรมประมงจะจัดส่งนักวิชาการลงพื้นที่ติดตามการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำเป็นระยะเพื่อประเมินผลการดำเนินกิจกรรมต่อไป