คนเลี้ยงหมู … แบกรับภาระอย่างน่าเห็นใจ

0
7107

ราคาเนื้อหมูหน้าเขียงที่ปรับสูงขึ้น จนเป็นคำถามว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อคนเลี้ยงหมู ยืนยันหนักแน่นว่า ยังคงยืนหยัดให้ความร่วมมือกับกรมการค้าภายใน ดูแลราคาหมูหน้าฟาร์มไม่ให้เกิน 80 บาทต่อกิโลกรัม มาโดยตลอด เพื่อไม่ให้ราคาหมูหน้าเขียงที่ปลายทางขายเกินกิโลกรัมละ 160 บาท เป็นการคุ้มครองพี่น้องประชาชนไทยให้บริโภคเนื้อหมูในราคาที่เป็นธรรม

ยิ่งหาคำตอบก็ยิ่งทำให้รู้ว่าที่ผ่านมาคนเลี้ยงหมูต้องเจอกับอะไร และน่าเห็นใจแค่ไหน

อย่างที่ นายสมชาย ผสมทรัพย์ เจ้าของฟาร์มสุกร “พลวงทองฟาร์ม” ตำบลพลวงทอง อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี ที่เลี้ยงหมูมาถึง 16 ปีฟาร์มเลี้ยงหมู ให้ความจริงในเรื่องหมูๆว่า สาเหตุที่ราคาเนื้อหมูปรับขึ้นนั้นเกิดจากหลายปัจจัย

โดยนับตั้งแต่ปัญหาราคาหมูตกต่ำเมื่อปี 2560 ต่อเนื่องมาถึงปัญหาโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือ ASF ในหมู ที่ระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลทางจิตวิทยาต่อเกษตรกรทำให้ผู้เลี้ยงหมูในระบบหายไปมากกว่า 20% จนมาถึงวิกฤติโควิด ทำให้ราคาหมูตกต่ำอย่างหนักกลายเป็นวิกฤตใหญ่ที่คนเลี้ยงหมูต้องเผชิญทำให้ฟาร์มหมูกว่า 10% ต้องเลิกกิจการไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปริมาณหมูจึงลดลงไปอีก

ขณะที่ความต้องการบริโภคเนื้อหมูของคนไทยที่เพิ่มขึ้น เป็นเพราะตลาดกลับมาฟื้นตัว การบริโภคของคนไทยดีขึ้น หลังจากที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มโควิด-19 ผนวกกับเป็นช่วงที่โรงเรียนต่างๆเปิดเทอม ทำให้ความต้องการเนื้อหมูเพิ่มขึ้นในเวลาที่รวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม สมชายเชื่อว่า หมูจะมีราคาแพงแค่ช่วงสั้นๆ และราคาจะปรับลดลงเรื่อยๆ หลังจากผ่านช่วงนี้ไปอีกระยะหนึ่ง

ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นผลมาจาก “กลไกตลาด” ที่เริ่มทำงาน จากอุปสงค์และอุปทาน ความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันทันใด

และในความจริงแล้วราคาหมูของไทยถือว่าถูกที่สุดในภูมิภาค เพราะแทบทุกประเทศในละแวกเพื่อนบ้านเรานี้ต่างได้รับผลกระทบจากโรค ASF ที่แพร่ระบาดทั้งใน จีน เวียดนาม กัมพูชา ลาว ทำให้ประเทศเหล่านี้ประสบปัญหาขาดแคลนหมูอย่างหนัก ราคาหมูจึงปรับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ อย่างเช่นเนื้อหมูจีนราคาพุ่งไปถึง 300-350 บาทต่อกิโลกรัม เวียดนาม 250 บาทต่อกิโลกรัม เมียนมาประเทศติดกับเราเนื้อหมูราคา 200 กว่าบาทไปแล้ว

ขณะที่ประเทศไทยยังคงสถานะปลอดโรคนี้ไว้ได้อย่างเข้มแข็ง ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ต่างระดมทุนทรัพย์กันเอง เพื่อป้องกันอุตสาหกรรมหมูของไทยเอาไว้ และปกป้องชาวไทยไม่ให้ประสบปัญหาหมูราคาแพงอย่างที่หลายประเทศต้องเผชิญ

ที่สำคัญ ที่ผ่านมาเกษตรกรต้องแบกรับภาระขาดทุนสะสมมานานกว่า 3 ปี และต้องมีต้นทุนที่สูงขึ้นถึง 100- 200 บาทต่อตัว จากการดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรค ASF เพิ่งจะมีช่วงนี้ที่เห็นราคาหมูกระเตื้องขึ้น สำคัญที่สุดคือเพิ่งมีครั้งนี้ที่ประเทศไทยสามารถส่งออกหมูได้ เพราะก่อนนี้เรามีประเด็นเรื่องโรคในสุกรที่กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่หลายประเทศใช้กีดกัน เพื่อไม่ให้ไทยส่งออกหมูที่มีคุณภาพออกไปได้ แต่ในวันนี้คนเลี้ยงหมูแสดงศักยภาพให้เห็นแล้วว่าสามารถป้องกันโรคสำคัญอย่าง ASF ได้เป็นอย่างดี จนกลายเป็นไข่แดงประเทศเดียวที่ปลอดจากโรคนี้ได้ตลอดมา

ผลตอบแทนที่พวกเขาควรได้รับ จึงควรจะเป็นการผลักดันให้เกิดเสถียรภาพราคาหมู ให้พวกเขาสามารถเดินหน้าอาชีพเดียวนี้ไว้ ทั้งปกป้องอาชีพของพวกเขาเอง และปกป้องผู้บริโภคดังที่ตั้งใจทำมาตลอดต่อไป ด้วยการปล่อยให้กลไกตลาดทำหน้าที่ของมันอย่างสมบูรณ์ เพียงเท่านี้ก็สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้แล้ว