ชป.จับตาฝนใต้ พร้อมกำชับพื้นที่ตอนบนเพาะปลูกตามแผน ลดเสี่ยงน้ำขาดแคลน

0
39799

วันนี้ (18 ธ.ค. 66) ที่ห้องประชุมสำนักงานชลประทานที่ 6 จังหวัดขอนแก่น  ดร.ทวีศักดิ์  ธนเดโชพล  รองอธิบดีกรมชลประทาน  เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference มายังศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ส่วนกลาง  สำนักงานชลประทานที่ 1-17  สำนักเครื่องจักรกล  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายสุริยพล  นุชอนงค์  รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน  ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทาน/โครงการชลประทาน/โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา  ผู้อำนวยการส่วนและหัวหน้าฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป

สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (18 ธ.ค. 66) พบว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 60,249  ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ79  ของความจุอ่างฯรวมกัน เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 17,906  ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 72  ของความจุอ่างฯรวมกัน กรมชลประทานได้วางแผนจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 ตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มี ด้วยการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก  รักษาระบบนิเวศ  การเกษตร อุตสาหกรรม และสำรองไว้ใช้ในต้นฤดูฝนหน้าตามลำดับ จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งทั้งประเทศไปแล้วกว่า 5,124 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของแผนฯ  เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 1,282   ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 22 ของแผนฯ  ปัจจุบันทั้งประเทศมีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว  2.41 ล้านไร่  หรือคิดเป็นร้อยละ 42 ของแผนฯ  เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา  มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 1.78  ล้านไร่  คิดเป็นร้อยละ 59 ของแผนฯ   ภาพรวมการบริหารจัดการน้ำ ยังคงเป็นไปตามแผนที่วางไว้   ทั้งนี้  พื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  รวมไปถึงภาคตะวันออก อยู่ในช่วงการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง  จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานและสำนักเครื่องจักรกลในพื้นที่ ให้เฝ้าระวังจุดเสี่ยงขาดแคลนน้ำ  โดยเฉพาะน้ำเพื่อการผลิตน้ำประปา พร้อมบูรณาการเครื่องจักรเครื่องมือร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นเข้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยได้ทันที  รวมทั้งวางแผนบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ที่สำคัญให้ทำการประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำและรณรงค์การเพาะปลูกพืชให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด  เพื่อลดความเสี่ยงที่ผลผลิตจะเสียหายได้

สำหรับพื้นที่ภาคใต้  กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 17-20 ธันวาคม 2566   จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 – 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณตอนล่างของภาค  จึงได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด  เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันท่วงทีสามารถลดผลกระทบที่จะเกิดให้ได้มากที่สุด