ชป. ย้ำทุกโครงการฯ น้ำในอ่างฯ-น้ำท่ามีน้อย ต้องเข้มงวดใช้น้ำทุกหยดอย่างรู้คุณค่า

0
6713

จากสถานการณ์ฝนตกน้อยลงในระยะนี้ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำท่ามีน้อย จึงเน้นย้ำทุกโครงการชลประทาน บริหารจัดการน้ำทุกหยดอย่างรู้คุณค่า

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสำนักงานชลประทานเครือข่าย SWOC ทั่วประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำากพื้นที่ต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 8 – 13 ก.ค. 63 ประเทศไทยบริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(8 ก.ค. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 32,018 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 8,365 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 44,000 ล้าน ลบ.. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 7,545 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 849ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศปัจจุบัน (8 ก.ค. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 5,098 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 43 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 1,787
ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55 ของแผนจัดสรรน้ำฯที่วางไว้ คงเหลือปริมาณน้ำที่ต้องจัดสรรอีก 1,463ล้าน ลบ.ม.

ส่วนผลการเพาะปลูกข้าวนาปี ล่าสุด(ข้อมูล ณ วันที่ 1 ก.ค. 63) ทั้งประเทศมีการทำนาปีไปแล้ว ประมาณ 6.71 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 39 ของแผนฯ(แผนวางไว้ 16.79 ล้านไร่) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 2.50 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 30 ของแผนฯ(แผนวางไว้ 8.10 ล้านไร่)

ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนมาแล้วกว่า 50 วัน แต่เนื่องจากมีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างก็บน้ำและน้ำท่าจึงมไม่มากนัก ดังนั้น การบริหารจัดการน้ำและการระบายน้ำต้องเป็นไปตามแผนอย่างรัดกุม ใช้น้ำทุกหยดอย่างรู้คุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา พี่น้องเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวตามแผนไปแล้ว กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำท่าในแหล่งน้ำธรรมชาติให้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดความเสียหายต่อผลผลิตข้าวที่ได้เพาะปลูกไปแล้ว ส่วนเกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูกควรรอหลังกลางเดือนกรกฎาคม ซึ่งคาดว่าจะมีฝนตกมากขึ้นและตกสม่ำเสมอไปจนถึงเดือนกันยายน จึงเหมาะสมแก่การเพาะปลูก