ชป.ร่วมต้อนรับนายกฯเยือนสมุทรปราการ ติดตามแผนป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่

0
17122

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน ร่วมให้การต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสลงพื้นที่ไปตรวจราชการและติดตามแผนป้องกันน้ำท่วม ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ

นายประพิศ  จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการรายงานสถานการณ์น้ำในจังหวัดสมุทรปราการต่อนายกรัฐมนตรีว่า  สาเหตุของการเกิดอุทกภัยในครั้งนี้เนื่องจากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างวันที่ 26-29 สิงหาคม 2564 ปริมาณฝนสะสมย้อนหลัง 3 วัน ที่สถานีคลองสำโรง วัดได้ถึง 228 มิลลิเมตร เฉพาะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู วัดได้กว่า 200 มิลลิเมตร ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวมีน้ำทะเลหนุนสูง และเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ทำให้เป็นอุปสรรคในการระบายน้ำ ต่อมาในช่วงวันที่ 27 สิงหาคม – 2 กันยายน 2564 มีฝนตกหนักในพื้นที่เขตหนองจอก วัดปริมาณฝนสะสมได้มากถึง 225 มิลลิเมตร ทำให้คลองลำปลาทิว และคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต มีระดับน้ำสูงขึ้น ในขณะที่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการยังมีน้ำรอการระบายอยู่ปริมาณมาก ทำให้มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ชุมชน และนาข้าวประมาณ 12,000 ไร่ ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 20 เซนติเมตร

กรมชลประทาน ได้ให้การช่วยเหลือในระยะเร่งด่วนด้วยการเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ต่างๆ ระบายน้ำลงสู่ทะเลอ่าวไทย ออกทางปลายคลองชายทะเล ได้แก่ คลองบางปลาร้า คลองบางปลา คลองสุวรรณภูมิ คลองเจริญราษฎร์ คลองด่าน ประตูระบายน้ำ สน.พระยาวิสูตร ประตูระบายน้ำ สน.เทพรังสรรค์ ประตูระบายน้ำชลหารพิจิตร ประตูระบายน้ำชายทะเล นอกจากนี้ ยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มบริเวณคลองชายทะเลออกสู่อ่าวไทย เช่น ปตร.นางหงส์ ปตร.ชลหารพิจิตร เพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่จนสถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติ ปัจจุบัน ตั้งแต่วันที่ 26  ส.ค. – 10 ก.ย. เป็นต้นมา กรมชลประทานได้ดำเนินการระบายน้ำลงทะเลอ่าวไทยรวม 370 ล้าน ลบ.ม. และระบายลงแม่น้ำบางปะกง 130  ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำได้รวมกว่า 500 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้มีแนวทางการป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัย โดยในระยะเร่งด่วน ด้วยการทำการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องสูบน้ำทั้งหมด ส่วนในระยะกลาง มีแผนปรับปรุงคลอง 7 สาย ตามแผนหลักการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ได้แก่ คลองพระองค์ไชยานุชิตคลองปีกกา คลองสำโรง คลองด่าน คลองประเวศน์บุรีรมย์ คลองอุดมชลขจร และคลองชวดพร้าว-เล้าหมู-บางพลีน้อย

ในการนี้ นายกรัฐมนตรี และคณะ ได้เดินทางไปติดตามและตรวจความพร้อมแผนป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง บริเวณสะพานน้ำยกระดับสถานีสูบน้ำสุวรรณภูมิ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร สำนักงานชลประทานที่ 11 จังหวัดสมุทรปราการ โดยได้รับฟังบรรยายการทำงานของระบบระบายน้ำคลองชายทะเลและลำน้ำสาขา การระบายน้ำจากคลองสำโรงไปยังชายทะเลและสูบน้ำออกสู่อ่าวไทย ซึ่งสะพานน้ำสุวรรณภูมิแห่งนี้ เป็นสะพานน้ำแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่ใช้ในการยกน้ำข้ามถนนสุขุมวิท(สายเก่า) ระบายน้ำออกจากพื้นที่รอบสนามบินสุวรรณภูมิและพื้นที่ใกล้เคียงไปลงทะเลอ่าวไทย สร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 เปิดใช้งานเมื่อปี 2553 เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ และพื้นที่ใกล้เคียง สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 100 ลูกบาศก์เมตร/วินาที