ชป.เดินหน้าบริหารจัดการน้ำเต็มศักยภาพ ตามสถานการณ์ฝนที่ตกแต่ละพื้นที่

0
27603

วันนี้ (2 ส.ค.65) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ นายประกอบ เผ่าพงศ์ และนายสุรเดช สมิเปรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางมาร่วมประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ และนายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน เข้าร่วมประชุมฯ พร้อมถ่ายทอดผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ (กทม.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (2 ส.ค. 65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 43,211 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 32,873 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,695 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 43 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้รวมกันประมาณ 14,176 ล้าน ลบ.ม. อนึ่ง กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 3-5 ส.ค. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ประเทศลาวตอนบน และเวียดนามตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ทั้ง 13 มาตรการอย่างเคร่งครัด รวมทั้งประกาศแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด

ด้าน ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวขอบคุณทุกหน่วยงานที่ได้บูรณาการการทำงานร่วมกัน ส่งผลให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกันนี้ได้กำชับให้โครงการชลประทานและหน่วยงานในสังกัดสำนักเครื่องจักรกลทั่วประเทศ เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเขื่อนและอาคารบังคับน้ำ หมั่นบำรุง ดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งพิจารณาปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้าย รวมไปถึงการกำจัดผักตบชวาและสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำให้ดีขึ้น