ชลประทานฯชี้แจงการก่อสร้างประตูระบายน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยตาจู พร้อมเร่งแก้ไขใช้งานได้แล้ว

0
4445

กรมชลประทาน ชี้แจง กรณีราษฎรในเขตพื้นที่ตำบลห้วยจันทร์ และตำบลโนนสูง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้างประตูระบายน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยตาจู ที่ก่อสร้างตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 จนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2562  ยังไม่แล้วเสร็จ  บานประตูยังไม่ติดตั้ง จึงเป็นเหตุทำให้น้ำระบายทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ นั้น

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นว่า อ่างเก็บน้ำห้วยตาจู เป็นโครงการชลประทานขนาดกลาง มีขนาดความจุ 22.28 ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี.. 2538  ซึ่งในปี 2560 – 2561 ที่ผ่านมา เกิดลาดทำนบดินสไลด์เสียหายเป็นบริเวณกว้าง กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 8 จึงได้มีแผนงานปรับปรุงอ่างเก็บน้ำห้วยตาจู โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณปี ..2561 (เพิ่มเติม) เพื่อดำเนินการปรับปรุงลาดทำนบดิน และปรับปรุงทางระบายน้ำล้น ให้มีช่องระบายน้ำพร้อมติดตั้งประตูควบคุมน้ำ ขนาด2.2x2 .จำนวน 2 ช่อง ที่ระดับต่ำกว่าระดับเก็บกัก 4.30 เมตร เพื่อควบคุมการระบายที่เกินความจุ

ทั้งนี้ กรมชลประทาน โดยสำนักงานพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางที่ 8  ได้เริ่มดำเนินการปรับปรุงทำนบดิน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 แล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2562  ซึ่งหลังจากการปรับปรุงทำนบดินเสร็จ ในปีแรกควรเก็บกักน้ำไม่เกินร้อยละ 70 ของความจุอ่างเก็บน้ำ ส่วนการปรับปรุงทางระบายน้ำล้น นั้น สำนักงานชลประทานที่ 8 ได้ดำเนินการก่อสร้างในภาพรวมแล้วเสร็จตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา  แต่เนื่องจากงานติดตั้งประตูระบายน้ำพร้อมเครื่องยก ได้ดำเนินการแล้วเสร็จก่อนเกิดเหตุสาธารณภัยในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2562  ประกอบกับสภาพน้ำฝนและน้ำท่าในช่วงเดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคมมีปริมาณมาก  ทั้งยังได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน โพดุล  จึงส่งผลให้ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำ เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงระดับทางระบายน้ำล้นที่ตัวอาคาร  ส่งผลให้ประตูระบายน้ำเกิดความชำรุด จึงมีความจำเป็นต้องถอดบานประตูน้ำออกชั่วคราว  และเนื่องจากระดับน้ำในอ่างฯ ยังคงมีปริมาณเกินกว่าระดับเก็บกัก จึงจำเป็นต้องทำการระบายน้ำออกเพื่อรักษาระดับน้ำไว้ที่ร้อยละ 70 ของความจุอ่างเก็บน้ำ ในปีแรกหลังจากปรับปรุงแล้วเสร็จตามข้อแนะนำจากที่ปรึกษา  

เบื้องต้น โครงการก่อสร้างสำนักงานชลประทานที่ 8 จึงได้ดำเนินการระบายน้ำผ่านทางท่อระบายน้ำปากคลองแทนการระบายน้ำผ่านทางระบายน้ำล้น  และได้ทำการติดตั้งบานระบายใหม่อีกครั้งในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562  ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการติดตั้งบานระบายแล้วเสร็จพร้อมใช้งานได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว