“บิ๊กป้อม” นำทีมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางป้องกันแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออก

0
5454

กรมชลประทาน วางโครงข่ายน้ำเชื่อมโยงระหว่าง จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ สนับสนุนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ

วันนี้(18 มี.ค.63) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางป้องกันแก้ไขสถานการณ์แล้งในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ รักษาการผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านบำรุงรักษา) พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับและเข้าร่วมประชุม ณ มณฑลทหารบกที่ 14 ค่ายทหารนวมินทราชินี จังหวัดชลบุรี

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำภาคตะวันออกว่า ปัจจุบัน(16 มี.ค.63) อ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก จำนวน 62 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกัน 760 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 604 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน จัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี 2562/63 ตามแผนฯไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 923 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 74 ของแผนที่กำหนดไว้ คงเหลือน้ำที่จะต้องจัดสรรอีก 322 ล้าน ลบ.ม. และ สำรองน้ำไว้ต้นฤดูฝน (มิถุนายน-กรกฎาคม 63) อีก 292 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับการบริหารจัดการน้ำเพื่อสนับสนุนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ผ่านโครงข่ายน้ำเชื่อมโยงระหว่าง จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ ซึ่งเป็นการบริหารจัดการน้ำแบบอ่างพวง และการสูบผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอกับความต้องการด้านอุปโภค-บริโภค ด้านการเกษตร และด้านอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีการสูบผันน้ำช่วยเหลือพื้นที่จังหวัดระยอง  จากคลองวังโตนด มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ วันละ ประมาณ 430,000 ลบ.ม. ปริมาณการผันน้ำสะสม 5.79 ล้าน ลบ.ม. จากอ่างเก็บน้ำประแสร์ มายังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล วันละ ประมาณ 600,000 ลบ.ม. ปริมาณการผันน้ำสะสม 33.11 ล้าน ลบ.ม.  และจากอ่างฯคลองใหญ่มายังอ่างฯหนองปลาไหล วันละประมาณ 130,000 ลบ.ม. ปริมาณการผันน้ำสะสม 1.49 ล้านลบ.ม.

ด้านการช่วยเหลือพื้นที่จังหวัดชลบุรี กรมชลประทาน ได้ดำเนินการสูบผันน้ำเติมอ่างฯบางพระ ปริมาณน้ำตามแผน 3 ล้าน ลบ.ม. โดยการขุดลอกคลองหลวง จากท้ายอ่างฯคลองหลวง  ถึงคลองพานทอง ระยะทาง 60 กิโลเมตร เพื่อระบายน้ำจากอ่างคลองหลวง มาที่สถานีสูบพานทอง โดยได้รับความร่วมมือจากมณฑลทหารบกที่ 14 ในการควบคุมการลำเลียงน้ำมาถึงจุดสูบน้ำ นอกจากนี้  ยังได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท อีสวอเตอร์ จำกัด (มหาชน) และการประปาส่วนภูมิภาค สาขาพัทยา จัดหาน้ำจากบ่อดินเอกชน ใน จ. ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เสริมเข้าในระบบ ปริมาณ 18 ล้าน ลบ.ม. เพื่อให้มีน้ำเพียงพอ ไปจนถึง 30 มิถุนายน 2563และสูบผันน้ำแม่น้ำบางปะกง – อ่างฯ บางพระ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำอ่างฯ บางพระ เมื่อค่าความเค็ม ณ สถานีสูบไม่เกิน 0.5 กรัม/ลิตร ปริมาณน้ำตามแผนวันละ 170,000 ลบ.ม. ปัจจุบันได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม คาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563

นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้วางมาตรการเพิ่มเติม เพื่อรองรับวิกฤตขาดแคลนน้ำ ในจังหวัดชลบุรี และระยอง ปี 2562-2563 ด้วยการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือมทุกภาคส่วนใน จ.ระยอง และชลบุรี ลดการใช้น้ำลง 10 % ตั้งแต่เดือน ก.พ. – มิ.ย. 63 พร้อมแจ้งไปยังกระทรวงพลังงาน ขอความร่วมมือโรงไฟฟ้าเอกชนในจังหวัดระยอง ชลบุรี หยุดเดินระบบอยู่ในโหมด Stand By หรือเดินระบบเท่าที่จำเป็น เพื่อลดการใช้น้ำเพื่อหล่อเย็น ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมการสูบน้ำไม่ให้เกินจำนวนที่ในแผนที่กำหนดรายวัน และตรวจสอบมิเตอร์วัดน้ำ ให้ใช้งานได้ตลอดเวลา พร้อมทั้งให้การประปาส่วนภูมิภาคสาขาพัทยา เตรียมแผนติดตั้งระบบสูบน้ำเคลื่อนที่ จากอ่างฯห้วยตู้ 1 อ่างฯห้วยตู้ 2 อ่างฯมาบฟักทอง 1 และอ่างฯมาบฟักทอง 2 รวมปริมาณน้ำ 3 ล้านลบ.ม. ทั้งนี้ หากดำเนินการตามมาตรการที่วางไว้ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอไปจนถึงเดือนมิถุนายน และมีน้ำสำรองในกรณีฝนล่าช้าอย่างแน่นอน