ผลกระทบรอบด้าน กดดันเกษตรกร

0
23315

ภาคปศุสัตว์ ต้องประสบกับต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 โดยเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น 30-40 % และยังคงสูงเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งส่วนนี้คิดเป็นต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ 70-80 % ยิ่งเมื่อประสบกับภาวะสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ต่างก็เป็นผู้ส่งออกธัญพืชรายใหญ่ของโลก ยิ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ราคาธัญพืชทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าวสาลี เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาได้ส่งผลต่อต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากทิศทางวัตถุดิบอาหารสัตว์มีราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประเทศไทยสามารถผลิตได้ประมาณ 5 ล้านตันต่อปี ต่ำกว่าความต้องการใช้ที่มีอยู่รวม 8 ล้านตันต่อปี ทำให้ต้องมีการนำเข้าอีกจำนวน 3 ล้านตันต่อปี

สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เสนอให้ภาครัฐพิจารณายกเลิกภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2 % ยกเลิกมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3:1 ส่วน และเปิดนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้กรอบ WTO, AFTA เป็นการชั่วคราว โดยยกเลิกโควต้าภาษีและค่าธรรมเนียมให้สามารถนำเข้าในปริมาณที่ขาดแคลนสำหรับปี 2565 นี้ เพื่อช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย บอกว่า จนถึงขณะนี้แนวทางที่มีการนำเสนอดังกล่าว ยังไม่มีข้อสรุปใดออกมา ทั้งที่กรมการค้าภายในมีข้อมูลมากพอที่จะตัดสินใจได้อยู่แล้ว

ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์หลักอย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากปี 2564 ที่ราคากิโลกรัมละ 10 บาท ได้ปรับมาเป็นกิโลกรัมละ 12 – 13 บาท หรือปรับเพิ่มขึ้นแล้ว 30% ผลที่เกิดขึ้นตามมาส่งผลต่อต้นทุนการเลี้ยงของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ทั่วประเทศเพิ่มขึ้น ล่าสุด คณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตสุกร ได้ประเมินต้นทุนการผลิตสุกรขุนไตรมาส 2/2565 ที่กิโลกรัมละ 98.81 บาท นับเป็นต้นทุนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ยิ่งสภาพอากาศของประเทศไทยในช่วงฤดูร้อนนี้ ไม่เพียงตัวสัตว์จะต้องเผชิญกับอากาศที่ร้อนอย่างมากเท่านั้น หากแต่ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร คาดการณ์สถานการณ์ภัยแล้งปี 2565 ว่า อาจมีแนวโน้มขาดแคลนน้ำ โดยไทยเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูแล้งตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา อุณหภูมิเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม และอาจต่อเนื่องยาวนานจนถึงกลางเดือนพฤษภาคมนี้ แถมสภาพอากาศที่ค่อนข้างแปรปรวน หนาวสลับร้อน ในหลายพื้นที่ยังต้องเสี่ยงภัยกับฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของสัตว์ เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัว ทำให้สัตว์เกิดความเครียดสะสม และมีอัตราเสียหายมากขึ้น ยิ่งส่งผลให้มีต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำให้โรงเรือนมีความเย็นในระดับคงที่ ต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินระบบในการควบคุมและระบายอากาศมากขึ้น ขณะที่บางฟาร์มใช้การปั่นมอเตอร์พัดลม ด้วยน้ำมัน ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งยังต้องใช้น้ำมากขึ้นทั้งน้ำกินและน้ำใช้ ยิ่งในพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาภัยแล้ง มีความจำเป็นต้องซื้อน้ำใช้ จะมีต้นทุนเพิ่ม 3,000-6,000 บาทต่อวัน งานนี้เรียกว่าเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตสำหรับภาคปศุสัตว์

ขณะที่เกษตรกรขายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มได้เพียง 94 – 98 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนเกษตรกรเลี้ยงไก่เนื้อยังถูกขอให้รักษาระดับราคาขายไก่หน้าฟาร์มไว้ที่ 40 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเท่ากับต้นทุนการเลี้ยงที่ 40 บาทต่อกิโลกรัม ด้านผู้เลี้ยงไก่ไข่ก็ทุกข์ไม่แพ้กัน เพราะต้องตรึงราคาขายไข่ไก่คละหน้าฟาร์มที่ฟองละ 3.40 บาท ตามที่ภาครัฐขอความร่วมมือไว้ โดยผลผลิตไข่ไก่ช่วงนี้เป็นไข่ไก่คละเล็กและคละกลาง ทำให้ขายได้ในราคาต่ำกว่าราคาประกาศ เกษตรกรจึงไม่สามารถขายผลผลิตได้ตามราคาที่สะท้อนต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง

การปล่อยให้ความต้องการของตลาดเป็นปัจจัยชี้นำราคา ถือเป็นแนวทางที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถอยู่รอดในอาชีพได้อย่างยั่งยืน และยังเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงอาหารที่เข้มแข็งเพื่อคนไทย

สาริทธิ์ สันห์ฤทัย