ฝนหลวงฯ เร่งสำรวจความต้องการน้ำภาคเหนือและช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ศรีสะเกษ

0
11978
วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 10.00 น. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้วันที่ 9กุมภาพันธ์ 2564 ได้มอบหมายให้ นายรังสรรค์ บุศย์เมือง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนบน จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ เดินทางลงพื้นที่เพื่อสำรวจการขอรับบริการฝนหลวงบริเวณ ตำบลตับเต่า อำเภอเทิงจังหวัดเชียงราย โดยมีเกษตรกร และเจ้าหน้าที่ตำบลตับเต่า ให้ข้อมูลพื้นที่การเพาะปลูก และความต้องการน้ำฝนในพื้นที่ โดยพบว่าพื้นที่ตำบลตับเต่า อำเภอเทิง มีการเพาะปลูกลำไย ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 2,000 ไร่ ปัจจุบันอยู่ในช่วงออกช่อดอกและมันฝรั่ง มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 4,000 ไร่ ปัจจุบันอยู่ในช่วงออกหัว จึงยังไม่มีความต้องการฝนในช่วงเดือนนี้  ปัจจุบันตำบลตับเต่า อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย มีการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยบ้าน อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในบางพื้นที่ และแม่น้ำ หงาว โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนบยังคงติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาใช้ในการวางแผนช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป

นอกจากนี้ในส่วนของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดบุรีรัมย์ มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 1ภารกิจ ขั้นตอนที่ 3 ซึ่งเป็นขั้นตอนการโจมตี ในเวลา 13.00 น. โดยใช้อากาศยานปีกตรึง ชนิด Caravan จำนวน 2 ลำ ใช้สารฝนหลวง จำนวน 700 กิโลกรัม ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่อำเภอภูสิงห์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีเกษ ได้ปริมาณน้ำฝนประมาณ 0.1 – 5.5 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยและยังคงต้องการน้ำอยู่ ดังนั้นในวันนี้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดบุรีรัมย์ ยังคงวางแผนช่วยเหลือพื้นที่จังหวัด     ศรีสะเกษหากมีสภาพอากาศที่เอื้อต่อการปฏิบัติการฝนหลวงเจ้าหน้าที่จะขึ้นบินปฏิบัติการทันที โดยมีพื้นที่เป้าหมายคือ พื้นที่การเกษตรตอนล่างของจังหวัดศรีสะเกษ และพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กของจังหวัดบุรีรัมย์ นครราชสีมา ศรีสะเกษ และสุรินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกร

อย่างไรก็ตาม หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงฯ ในพื้นที่อื่นๆ ที่ยังไม่ได้ขึ้นบินปฏิบัติการ ยังคงติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีการเปลี่ยนแปลงและเข้าเงื่อนไขปฏิบัติการฝนหลวง จะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในทุกพื้นที่ทั้งนี้ เกษตรกรและพี่น้องประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวง และติดตามข้อมูลข่าวสารกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ทางเพจFacebook, Line official account, Instagram,Twitter และเว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตรหรือโทรศัพท์ 02-109-5100 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล กล่าวทิ้งท้าย