“มนัญญ”บุกตรวจผัก ผลไม้ ด่านเชียงของ พบสารตกค้างอื้อ!!!

0
1835

“มนัญญา” ปื๊ดแตก!! ด่านเชียงของ ให้นั่งรอเกือบชั่วโมง ไม่ยอมเปิดตู้คอนเทรนเนอร์ขนผักให้สุ่มตรวจ ทุกหน่วยงานอ้างต้องรอชิปปิ้ง แถมยังมีรถรอเป็น100คัน หน้าด่านไม่ยอมเข้า ลั่น 1 ธ.ค.นี้ ผักผลไม้นำเข้าจะต้องปลอดสารตกค้าง 3 ชนิดหลังไทยสั่งแบน ผงะพบสารพิษหลายรายการในผักผลไม้เพียบ จวกกว่าจะรู้ผลคนไทยกินไปแล้ว เตรียมตั้งแล็บตรวจสารตกค้างร่วมกับ อย.

วานนี้(1 พ.ย.) น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจขั้นตอนการนำเข้าผักผลไม้ สินค้าเกษตร บริเวณด่านเชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย พร้อมกับได้ซักถามเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากร ด่านพืช ของกรมวิชาการเกษตร ด่าน อย. ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เดินดูระบบการตรวจเอ็กเรย์รถขนส่งสินค้าทุกตู้คอนเทรนเนอร์ และระบบทดสอบสุ่มตรวจสอบสารตกค้างในผักผลไม้นำเข้า

น.ส.มนัญญา กล่าวว่า ด่านแห่งนี้ มี 2 หน่วยงานที่ทำหน้าที่เก็บตัวอย่างไปตรวจสอบ คือ ด่านพืช กรมวิชาการเกษตร แต่เมื่อสินค้ามาถึงจะต้องเก็บตัวอย่างส่งไปตรวจที่ด่านตรวจพืชเชียงแสน ซึ่งอยู่ห่างจากอ.เชียงของ 40 กิโลเมตร ทำให้เสียเวลาและใช้เวลา ไม่ทันกับปริมาณสินค้าเข้ามามีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีด่าน อย.ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบสารตกค้าง แต่ทำได้เพียงตรวจเบื้องต้นผ่านชุดตรวจสอบ จีทีเทสคิดส์ ได้สุ่มตรวจแต่ปล่อยผ่านสินค้าไปก่อน ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่เก็บจะใช้เวลาในการตรวจสอบ 2 วันจึงทราบผลซึ่งไม่ทันสถานการณ์และปริมาณสินค้าที่ผ่านเข้ามา รวมทั้งปริมาณนำเข้าผักผลไม้จากจีนจำนวนมาก

โดยปี 2561 นำเข้า 3-4 แสนตัน มูลค่า 5 พันล้านบาท ปี 2562 จนถึงขณะนี้ 170,000 ตัน มูลค่า 3,200 ล้านบาท มีล้งชาวจีน 40-50 ราย ล้งจีนมีการเช่าพื้นที่ตลาดไท ทำห้องเย็นไว้รับสินค้าด้วย ในแต่ละวันมีผักผลไม้นำเข้าจากจีนกว่าวันละ 100 ตู้คอนเทนเนอร์ เพราะเส้นทางนี้ มีความสะดวกในการขนส่งสินค้าจากจีนตอนใต้ ใช้เวลา 3 ชั่วโมงถึงด่านเชียงของ จึงทำให้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งตรงตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง

.

ทั้งนี้ ด่านเชียงของ ของกระทรวงเกษตรฯ ไม่มีแล็บตรวจสารตกค้างในผักผลไม้ มีเพียงตรวจโรคและแมลงศัตรูพืชเท่านั้น ส่วนการตรวตสารคกค้างเป็นหน้าที่ อย.ที่ใช้ชุดตรวจสอบ จีทีเทสคิดส์ โดยตรวจ 3 กลุ่มสารคือ ออการ์โนฟอสเฟต กลุ่มคาบาเมต และจีพีโอ และชุดตรวจทีเอ็มสองตรวจสารกลุ่ม ไพรีทรอยด์ และกลุ่มออการ์โนคลอรีน ซึ่งชุดตรวจดังกล่าวตรวจได้เพียง 1-2 กลุ่มเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงมีการใช้สารเคมีเกษตร 4 กลุ่ม และมีมากถึง 400 สาร ทำให้ยังคงพบสารตกค้างในผักผลไม้จากการสุ่มตรวจทั่วไปทั้งตลาดทั่วไปและห้างสรรพสินค้า

อย่างไรก็ตาม ได้มีนโยบายให้กรมวิชาการเกษตร เร่งตั้งห้องปฎิบัติการตรวจวิเคราะห์สารตกค้างที่นำเข้าที่ด่านเชียงของ จะใช้งบปี 2563 โดยจะเป็นห้องปฎิบัติการที่ทันสมัย ทราบผลรวดเร็ว สามารถวิเคราะห์สารตกค้างได้มากกว่า 450 ชนิด ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคมีความปลอดภัยมากขึ้นและช่วยลดผลกระทบเกษตรกรไทย สามารถแข่งขันกับผักผลไม้ที่นำเข้าจากจีนได้ ซึ่งห้องปฎิบัติการนี้จะบูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข

“ดิฉันมาให้กำลังใจและสอบถามปัญหาและความต้องการเพื่อให้การปฎิบัติงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น รู้สึกตกใจกับการตรวจสุ่มตัวอย่างแค่ 1,500 ตัวอย่างทั้งที่มีสินค้าเข้ามามากมาย และพบสารตกค้าง ยาฆ่าแมลงที่เป็นวัตถุอันตราย วอ.4 ต้องห้าม ถึง 14 ตัวอย่าง โดยจะเรียกอธิบดีกรมวิชาการเกษตร มาถามว่าทำไมไม่รายงานให้ทราบ ดิฉันจะกลับไปทำการบ้าน มาตรการเฝ้าระวังสารตกค้างใหม่ทั้งหมดทุกด่าน เพิ่มเติมบุคคลากร ที่จะทำงานร่วมกับ อย. ให้มีประสิทธิภาพไม่ใชสินค้าถึงผู้บริโภคแล้ว เพิ่งรู้ผลว่ามีสารตกค้าง ซึ่งการดำเนินการมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารไม่ใช่การกีดกันทางการค้า แต่เป็นเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภคทั้งประเทศต้นทางและปลายทาง ที่ไทยต้องเดินไปสู่เป้าหมายเป็นครัวของโลกให้ได้ ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การตรวจด่านครั้งนี้ น.ส.มนัญญา ต้องการเข้ามาสุ่มตรวจสินค้าเปิดตู้คอนเทรนเนอร์ แต่ถึงกับหงุดหงิดไม่พอใจอย่างมากกับกระบวนการเปิดตู้คอนเนอร์รถขนผัก 2 คัน เพื่อตรวจสอบที่เกิดความล่าช้าอย่างมาก เพราะเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืช ด่าน อย.ไม่สามารถเปิดตู้ได้ อ้างว่าจะต้องรอชิปปิ้งมาดำเนินการเอกสารให้แล้วเสร็จก่อน ทั้งที่ประเทศต้นทางได้ส่งเอกสารนำเข้ามาทางอีเมล์แจ้งล่วงหน้าแล้วเป็นสัปดาห์ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการอะไร ทำให้น.ส.มนัญญา ต้องนั่งรอเป็นชั่วโมง รวมทั้งระหว่างนั้นมีรถเข้ามาให้ด่านตรวจเพียง 2 คันนั้น

https://www.facebook.com/106710994029541/posts/145570533476920/

ทั้งนี้ เมื่อชิปชิ้งมาเปิดตู้ น.ส.มนัญญา ได้ชี้ให้นำกล่องผักลงตรวจและเปิดรื้อผักดูด้วยตนเอง ขณะที่มีรถคอนเทรนเนอร์ จอดรอด้านนอกหน้าด่านเป็น 100 คัน จึงได้ถามนายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์  อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นที่ปรึกษา รมช.เกษตรและสหกรณ์ ว่าทำไมต้องรอชิปปิ้ง   ทั้งที่นำเสนอเอกสารสินค้ามาล่วงหน้าแล้ว

นายฉกรรจ์ ตอบว่า สิ่งที่ต้องรออาจเพราะรมช.เกษตรและสหกรณ์ มาตรวจ หรือในรถคอนเทรนเนอร์ ขนอะไรมาที่ไม่อยากให้ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ตรวจ อีกทั้งนายฉกรรจ์ ยังต่อว่าเจ้าหน้าที่หัวหน้าด่านตรวจพืช ว่าชิปปิ้งไม่ใช่เจ้านายข้าราชการ ขอให้ไปดูหน้าที่การทำงานเสียใหม่ว่าด่านตรวจพืชสามารถเข้าเปิดตู้สุ่มตรวจได้ทันที เหตุที่ทำงานกันอย่างนี้เพราะชิปปิ้งครอบงำหรือไม่

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่เปิดด่านปี 2556 มีการตรวจพบสารตกค้าง ผิดกฎหมาย อย.ตามประกาศกระทรวงที่ 386 และมาตรฐาน ไอเอสโอ 17025 และมาตรฐาน อย ซึ่งจากการตรวจสอบโดยผลการดำเนินการพบ สะสมดำเนินคดี 1,500 คดี มีการส่งเรื่องให้ อย.ส่วนกลางดำเนินการ/บางกรณีพบบางบริษัทกระทำผิดซ้ำ จะขึ้นบัญชีดำ ส่วนมาก ที่พบสารตกค้าง สารคลอไพรีฟอส จากกระหล่ำปลีและบล็อคคอรี่ และสารคาเบนนาซินหรือสารกันเชื้อราในองุ่น ทั้งนี้หลังจากมีการยกเลิกการใช้ 3 สาร จะเป็นผลให้สินค้านำเข้าจะต้องไม่มีสารตกค้างในกลุ่มนี้ มีผลบังคับวันที่ 1 ธ.ค.ทันที โดยเร็วๆ นี้ ไทยจะหารือทางการจีนเพื่อให้มีการรับรองสารตกค้างจากประเทศต้นทางมาด้วย

ปัจจุบันนี้เอกสารนำเข้า ประกอบด้วย ใบรับรองสุขอนามัยพืช ใบรับรองยกเว้นภาษีตามข้อตกลงเอฟีเอ ใบอนุญาตนำหรือส่งอาหารเข้ามาในราชอาณาจักร เอกสารตรวจพืชและแมลงจากด่านตรวจพืชทุกตู้คอนเทนเนอร์ มีการดำเนินการโดยบริษัทได้ยื่นขอเอกสารเหล่านี้ไว้ล่วงหน้าแล้ว พบว่าเอกสารบางรายการ มีการอนุญาตลงวันที่ 29 มี.ค.โดยสามารถนำมาใช้นำเข้าได้ตลอดปี

#AllnewsExpress