มนัญญา นำร่อง อุทัยฯ เยียวยาหลังแบน 3สาร

0
1684

“รมช.มนัญญา ลุยดูแลเกษตรกรทุกกลุ่มหลังแบน3สารพิษ นำร่องพรุ่งนี้จ.อุทัยธานี พร้อมปูพรมช่วยทุกพื้นที่แบบใยแมงมุม สั่งทุกหน่วยงานเข้าถึงตัวเกษตรกร แก้ถูกจุดเกิดประโยชน์สูงสุด ลั่นเจ้าของบริษัทนำเข้าสารเคมี รายใดมีสารคงเหลือ มาเจอตัวได้จะบอกให้เข้าใจต้องรับผิดชอบกำจัดสารเอง อย่าโยนภาระรัฐบาล จ่อเก็บภาษีส่งออกสารเคมีทุกชนิด ป้องไทยเป็นแหล่งผลิตสารอันตราย”

เมื่อวันที่ 24 ต.ค.น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าในวันที่ 25 ต.ค.จะจัดประชุมทุกหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯที่ศาลากลาง จ.อุทัยธานี เพื่อรับฟังความเห็นทุกภาคส่วนภายหลังการแบน3สารเคมี คลอร์ไพรีฟอส พาราควอต ไกลโฟเซต มีผลทันทีวันที่1ธ.ค.นี้ ที่ห้ามจำหน่าย ผลิต ครอบครอง นำเข้า ส่งออก โดยยกระดับเป็นวัตถุอันตรายประเภท4 โดยทุกหน่วยงานต้องดูแลช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งนำร่องที่จ.อุทัยธานีและจากนี้ตนจะลงไปรับฟังปัญหาทุกจังหวัด ทั้งนี้ทุกหน่วยงานต้องเดินหน้าไปด้วยกัน ร่วมกันนำทางออก ทางเลือกทำไว้ทุกอย่างไปให้ถึงตัวเกษตรกรและมีมาตรการช่วยเหลือไว้พร้อมหมด โดยเจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปหาเกษตรกร ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน และไม่ทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้น

รมช.เกษตรฯกล่าวว่าในส่วนสารทางเลือก กรมวิชาการเกษตร ได้เสนอ 16 ชนิดเข้าที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย มาอย่างต่อเนื่องและกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับรองไว้นานแล้วตั้งแต่ปี2554 ไม่ใช่สารเคมีตัวใหม่แต่อย่างใด และขอยืนยันว่าอย่าใช้คำว่า สารทดแทน เพราะไม่มี

“ขอให้เข้าใจตรงกันว่าไม่มีการนำเข้าสารตัวใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนสาร3ตัวนี้ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีสารทางเลือกให้เกษตรกร ที่ใช้กันทั่วไปมีขายในท้องตลาดมีเป็นร้อยชนิด ซึ่งสารทางเลือก 16 ชนิดนี้กรมวิชาการเกษตร อนุญาตให้นำเข้ามาตั้งแต่ปี54 โดยกระบวนการใช้สารเคมี เริ่มมีการปรับเปลี่ยนการเตรียมพร้อมไว้อยู่แล้ว และสารทางเลือก 16 ชนิดนี้ กรมวิชาการเกษตร ก็ได้เสนอเข้า คก.วัตถุอันตราย ไปแล้วก่อนหน้านี้นานแล้วทุกครั้งที่มีการประชุม และขณะนี้กรมวิชาการเกษตร กำลังทำร่างแนบท้ายประกาศกระทรวงแบน3สาร ที่จะออกมาเร็วๆนี้ มีผลบังคับใช้ 1 ธ.ค.ให้เป็นตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ”น.ส.มนัญญา กล่าว

รมช.เกษตรฯกล่าวว่าในส่วนประเด็นการกำจัดสารเคมี3ชนิดที่ยังคงเหลือ ตนขอถามว่าใครเป็นคนพูดเรื่องสารคงเหลือที่ต้องทำลายโดยขอใช้เงินหลวง ตนยืนยันไม่ใช้หน้าที่ของรัฐบาล กระทรวงเกษตรฯ และกรมวิชาการเกษตร เป็นหน้าที่ของบริษัทที่นำเข้ามา ที่ต้องรับผิดชอบนำไปกำจัด เรียกคืนจากร้านค้า ซึ่งเป็นวิธีตามหลักสากลที่ประเทศต่างๆเลิกใช้สารเคมี ได้กำหนด จากนี้จะมีคณะกรรมการ ติดตามตรวจสอบ การกำจัด3สาร อย่างไรก็ตามขณะนี้ไม่ควรมีสารเคมีคงเหลือในประเทศ เพราะชะลอการนำเข้ามาตั้งแต่ปี2559 เริ่มทยอยนำเข้าลดลงเรื่อยๆและได้ห้ามนำเข้าเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ดังนั้นทางเอกชน จะใช้มาเป็นข้ออ้างไม่ได้

“เจ้าของบริษัทนำเข้าสารเคมี มาพบพูดคุยกับพี่ได้ แต่ต้องแยกเซลล์ขายยา ร้านค้า ออกไปเพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และเจ้าของบริษัท ต้องรับผิดชอบโดยตรงซึ่งทางบริษัทได้นำเข้า สารเคมีหลายชนิดอยู่แล้ว ดังนั้นกระบวนการทำลาย ไม่ใช้หน้าที่ของรัฐบาล บริษัทนำเข้าต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายตรงนี้เอง”น.ส.มนัญญา กล่าว

รมช.เกษตรฯกล่าวว่าขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรม กำลังแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายโรงงาน สารเคมี ปุ๋ยยา ทุกชนิดให้มีคุณภาพมาตรฐานรับรองที่เป็นระดับสากล โรงงานทุกแห่งต้องมีห้องแลปตรวจสอบสารที่นำเข้ามา เพื่อป้องกันการลักลอบนำมาขายในประเทศ จากนี้จะมีมาตรฐานการควบคุมวัตถุอันตรายสารเคมี ทุกประเภทจะนำเข้าแบบเดิมที่อะไรก็เอาส่งๆเข้ามาได้ เข้ามาแล้วขายที่ไหนก็ได้ ใครเอาไปทำอะไรก็ได้ อย่างนี้จะไม่ให้เกิดขึ้นอีก ต่อไป จะมีมาตรการควบคุมสต็อก โกดัง มีระบบควบคุมรู้ว่าทุกขวดทุกลิตรไปอยู่ที่ไหน มาจากใคร บริษัทต้นทาง ใครไปผลิต บรรจุยี่ห้ออะไร ซึ่งต้องควบคุมได้ตลอดสายการผลิต และเป็นโรงงานที่ถูกต้องตามมาตรฐาน ถึงจะขอนำเข้าสารเคมีได้ ไม่ให้เหมือนที่ผ่านมาการอนุญาตนำเข้าได้ให้เป็นใบอนุญาตแต่ละสารเคมี ซึ่งเมื่ออนุญาต แล้วไปแตกบริษัทเครือข่าย บริษัทลูก มานำเข้าได้อีก ต่อไปต้องตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งหมด พร้อมกับจะหารือกับกรมสรรพกร เพื่อเก็บภาษีส่งออกสารเคมีทุกชนิด จากเดิมที่ไม่เก็บภาษีเลยทั้งนำเข้าและส่งออก เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศไทยกลายเป็นฐานผลิตสารเคมีอันตราย

“เกษตรกรไทยมีคุณค่าทั้งหมด ในฐานะ รมช. เกษตรฯ พี่จะไปทุกจังหวัด ลงพื้นที่ประชุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไปทำมาตรการปรับเปลี่ยนทำเกษตร จะได้รู้ปริมาณใช้สารหรือไม่ใช่ไปดูปัญหาช่วยเหลือเกษตรกรทุกกลุ่ม ซึ่งวันที่พรุ่งนี้ประชุมนำร่องที่ จ.อุทัยธานี เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดูแลเกษตรกรแบบใยแมลงมุม ลงไปหาทุกพื้นที่เข้าถึงเกษตรกร รายใดต้องการช่วยเหลือ ให้เกิดความชัดเจน จะสามารถช่วยได้อย่างตรงจุดและเกิดประโยชน์กับตัวเกษตรกรเองอย่างดีที่สุด”น.ส.มนัญญา กล่าว