ร้อนแล้งกระทบหมู-ไก่ ต้องเข้าใจและปล่อยกลไกตลาดทำงาน

0
6326

ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 หรือตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2563 หดตัวร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานเมื่อเร็วๆนี้นั้น มีสาเหตุหลักมาจากสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรง และผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ นายปฏิภาณ กิจสุนทร นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ศูนย์ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสหรัฐฯ (NCEI) และนาซ่า (NASA) มองว่าสภาพอากาศร้อนที่ปีนี้คาดว่า จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกมา สภาวะเช่นนี้ย่อมทำให้ทั้งการปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ยิ่งในสัตว์ด้วยแล้วปัจจัยนี้ถือว่า เป็นปัญหาใหญ่ที่เกษตรกรต้องรับมือ เพราะส่งผลกับอัตราการให้ผลผลิตโดยตรง เนื่องจากฤดูร้อนมักเป็นช่วงที่สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ระหว่างวันมีทั้งช่วงอากาศเย็นในตอนค่ำถึงเช้าตรู่ และอากาศร้อนอบอ้าวในตอนสายถึงเย็น บางพื้นที่อาจมีฝนตกจากพายุฤดูร้อนร่วม ทำให้สัตว์ปรับสภาพร่างกายไม่ทัน เกิดความเครียด กินอาหารน้อยลง อาจเจ็บป่วยได้ง่าย

อย่างเช่นการเลี้ยงหมูที่การดูแลในช่วงนี้ค่อนข้างยาก เนื่องจากหมูเป็นสัตว์ที่ไม่มีต่อมเหงื่อเพื่อระบายความร้อนเหมือนกับคน เมื่อต้องอยู่ภายใต้อากาศที่ร้อนจัด จึงแสดงอาการหอบ เพื่อช่วยลดความร้อนภายในร่างกาย หากเกิดกับแม่หมูอุ้มท้องความร้อนภายในตัวแม่อาจทำให้ลูกแท้งได้ หรือจำนวนลูกมีชีวิตแรกคลอดลดลง ส่วนในหมูขุนเมื่อหอบและเครียดจากอากาศร้อน ก็จะไม่ค่อยกินอาหาร เพื่อไม่ให้เกิดความร้อนในร่างกายจากการย่อยอาหาร เมื่อการกินน้อยก็จะอ่อนแอ การสร้างภูมิคุ้มกันลดลง อาจเกิดโรคง่ายขึ้น

การลดความร้อนที่เกษตรกรพอจะทำได้คือ การเปิดระบบน้ำหยด น้ำสปริงเกอร์รดหลังคา รวมถึงระบบทำความเย็นทั้งแผงรังผึ้ง (Cooling Pad) และพัดลมระบายอากาศในโรงเรือนอีแวป (EVAP) ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้ไฟฟ้าเพื่อเดินระบบเหล่านี้เพิ่มขึ้น จึงถือเป็นภาระต้นทุนที่เกษตรกรต้องแบกรับ

ที่สำคัญยังมีปัญหาหนักที่เกษตรกรกำลังเผชิญ เนื่องจากบางพื้นที่มีน้ำไม่เพียงพอให้หมูกินจากภัยแล้ง เกษตรกรต้องซื้อน้ำมาใช้ จึงมีต้นทุนเพิ่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ฟาร์มหมูขุนที่เลี้ยงหมู 900 ตัว ต้องซื้อน้ำวันละ 3 คัน คันละ 1,000-1,200 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพน้ำ ในการเลี้ยงหมูรวม 130 วันจนถึงจับออก เท่ากับต้องเพิ่มต้นทุนค่าน้ำอีก 2 บาทต่อกิโลกรัม หรือ 200 บาทต่อตัวหมูขุน 100 กิโลกรัม

ขณะที่ในการเลี้ยงไก่นั้นการดูแลก็ยากไม่ต่างกัน เพราะไก่เป็นสัตว์ที่มีขนปกคลุมร่างกาย และไม่มีเหงื่อเพื่อใช้ระบายความร้อนจึงต้องหอบหายใจเช่นกัน เมื่อแม่ไก่ไข่มีอาการเครียดจัด จะเกิดภาวะไข่ลด หรือมีไข่แตกในท้อง เกิดความเสียหายและส่งผลให้ผลผลิตของฟาร์มเกษตรกรลดลง

ดังนั้นเกษตรกรจึงต้องดูแลแม่ไก่ไข่เป็นพิเศษ โดยเฉพาะการปรับสภาพความเป็นอยู่และอุณหภูมิภายในโรงเรือนเลี้ยงอย่างเหมาะสม ซึ่งปกติแล้วเกษตรกรจะเพิ่มการให้น้ำละอองพ่นฝอยสำหรับในโรงเรือน และการใช้สปริงเกอร์น้ำรดหลังคาเพื่อลดอุณหภูมิในโรงเลี้ยง ยิ่งในเกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงไก่ในโรงเรือนเปิดก็ยิ่งจำเป็นต้องทำ หรือแม้แต่ในการเลี้ยงไก่ที่ส่วนใหญ่จะอยู่ภายในโรงเรือนอีแวป ที่สามารถปรับอากาศภายในให้เหมาะสมได้ก็ตาม แต่อากาศที่ร้อนจัดอุณหภูมิภายนอกสูงมาก ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของระบบทำความเย็นที่ลดลง ทำให้มีค่าไฟที่เพิ่มขึ้นจากการต้องเปิดระบบน้ำพ่นฝอยและในโรงเรือนอีแวป ซึ่งในหลายพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง เกษตรกรต้องซื้อน้ำมาใช้ในฟาร์ม จึงมีต้นทุนค่าน้ำค่าไฟเพิ่มขึ้นประมาณ 5-10 สตางค์ต่อฟอง

นอกจากนี้ภาวะอากาศร้อน ยังส่งผลให้แม่ไก่ให้ผลผลิตไข่ลดลงประมาณ 10-15% และอากาศเช่นนี้ส่วนใหญ่ไข่จะมีแต่ขนาดกลางถึงเล็กประมาณเบอร์ 3-4-5 เท่านั้น จากปกติที่มีไข่ไก่ 8 ขนาด คือ จัมโบ้-0-1-2-3-4-5-6 ฟองไข่ขนาดเล็กเช่นนี้ เกษตรกรก็จะขายไข่ได้ราคาลดลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตามทั้งหมูและไข่ไก่นั้นเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) หรือที่ราคามีขึ้นมีลงตามกลไกตลาด ภาวะราคาแปรผันตามอุปสงค์ (Demand) -อุปทาน (Supply) ในช่วงเวลานั้นๆ ขอเพียงเข้าใจและปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน วัฎจักรราคาทั้งหมูและไข่ไก่ก็จะเป็นปกติโดยไม่ต้องมีการควบคุมราคาใดๆเลย