สภาองค์กรของผู้บริโภค เรียกร้อง นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจ พิจารณายับยั้ง การจัดซื้อ ชุดตรวจคัดกรองโควิดด้วยตัวเอง หรือ แอนติเจนเทสคิด ขององค์การเภสัชกรรม 8.5 ล้านชุด ออกไปก่อน โดย มองว่า ชุดตรวจ มีความแม่นยำต่ำกว่ามาตรฐาน

0
16439

 

สภาองค์กรของผู้บริโภค เรียกร้อง นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจ พิจารณายับยั้ง  การจัดซื้อ ชุดตรวจคัดกรองโควิดด้วยตัวเอง หรือ แอนติเจนเทสคิด ขององค์การเภสัชกรรม 8.5 ล้านชุด ออกไปก่อน โดย มองว่า ชุดตรวจ มีความแม่นยำต่ำกว่ามาตรฐาน รวมถึงให้ ครม. พิจารณาให้ สปสช.มีอำนาจในการจัดซื้อ ชุดตรวจคัดกรองโควิด-19ด้วยตัวเอง โดยตรง ที่มีประสิทธิภาพสูง มาแจกจ่ายให้กับประชาชน.

สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดแถลงข่าวออนไลน์ ชุดตรวจคัดกรองโควิดด้วยตัวเอง หรือ แอนติเจนเทสคิด  หรือที่เรียกว่า ATK   ทาง คุณสุภัทรา นาคะผิว  ประธานอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค มองว่า ชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วยตัวเองที่ผ่านการรับรองจาก อย.ไทย มีคุณภาพแตกต่างกันออกไป  จึงอยากให้อย. ช่วยทำข้อมูล ATK ที่มีการขึ้นทะเบียนกับอย.ในปัจจุบัน แต่ละชนิด แต่ละยี่ห้อ ว่ามีความแม่นยำกี่เปอร์เซ็นต์  เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภคในการเลือกซื้อชุดตรวจ  ส่วนกรณี การจัดซื้อชุดตรวจATK ของ องค์การเภสัชกรรม ทางสภาองค์กรของผู้บริโภคค่อนข้าง มีความกังวล เนื่องจากหากได้ชุดตรวจที่มีความแม่นยำต่ำ หรือประสิทธิภาพต่ำ อาจเกิดผลลบสูง ก็จะส่งผลต่อการควบคุมป้องกันการระบาดของโควิดอย่างมาก

รวมถึง เรียกร้อง ถึงทาง พลเอก ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจ ยับยั้งในการจัดซื้อ ชุดตรวจ ATK ขององค์การเภสัชกรรมในครั้งนี้ไปก่อน ที่จะได้ยี้ห้อที่มีความแม่นยำ ร้อยละ 90 ซึ่งมองว่ายังไม่ดีพอ เมื่อเทียบกับข้อกำหนดมาตราฐานต่างประเทศ ถึงแม้จะมีราคาถูก ก็ตาม

รวมถึงให้นำปัญหาดังกล่าว เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อที่จะพิจารณาว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่จะให้ครม.มีมติเห็นชอบให้ทาง สปสช.ดำเนินการจัดซื้อชุดตรวจ ATK เพื่อที่จะแก้ปัญหาโควิด เพื่อให้ได้ชุดตรวจที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ ในการลดการแพร่ระบาดโควิด. โดยขอให้พิจารณาปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องเร่งด่วน

ทั้งนี้ นางสาวสารี  อ๋องสมหวัง   เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุถึงการจัดหาชุดตรวจ เแอนติเจนเทสคิด ของทางองค์การเภสัชกรรม  ว่าเป็นการดำเนินตามขั้นตอนระเบียบของรัฐในการเปิดประมูลเพื่อจัดหาผู้นำเข้าชุดตรวจ ซึ่งเครือข่ายผู้บริโภค มองว่า จุดนี้อาจเป็นจุดอ่อนที่ทำให้เกิดข้อกังวลที่จะทำให้ได้ชุดตรวจที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่าชุดตรวจที่ควรจะได้ใช้  ดังนั้น จึงอยากให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ศบค. ซึ่งมีอำนาจและข้อกฎหมายในการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้เข้ามาสั่งการจัดซื้อชุดตรวจATK โดยระบุชัดเจนถึงยี้ห้อ หรือผู้ผลิตได้เลยโดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนตามปกติของรัฐที่จะต้องเปิดการประมูลในกรณีที่มีผู้ผลิตหลายรายเพื่อให้ได้ชุดตรวจที่สามารถควบคุมและมั่นใจในประสิทธิภาพ  จะช่วยในการควบคุมการแพร่ระบาด

นอกจากนี้ ยังได้รับข้อมูลจากประชาชนจำนวนหนึ่ง ที่แจ้งว่าชุดตรวจด้วยตนเองที่มีจำหน่ายในร้านยาทั่วไป มีราคาค่อนข้างสูง  จึงอยากขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบและกำกับดูแลราคาของชุดตรวจให้มีความเหมาะสมเพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับประชาชนในการตรวจคัดกรอง โควิด-19 ด้วยตนเองได้

ทางกลุ่มเครือข่ายย้ำว่า การออกมาแสดงข้อคิดเห็นในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการวิจารณ์เพื่อด้อยค่า ผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิตรายใดรายหนึ่งหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการแก้ไขปัญหาการจัดหาชุดตรวจ ATK ที่ดีและสังคมให้การยอมรับเพื่อ ให้สามารถดำเนินการจัดหาชุดตรวจได้เร็วและแล้วเสร็จทันตามช่วงที่มีการระบาด

ด้าน  นายมิตร์  เทียนอุดม  กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ระบุ ว่า หากไทยต้องการ ยุติการแพร่กระจาย โควิด-19 ต้องทำให้ประชาชนรับรู้ถึงสถานการณ์การติดเชื้อ ของตัวเอง จากการติดตาม พบว่า เมื่อคนรู้ว่าติดเชื้อ จะมีความกังวลในหลายๆเรื่อง ในช่วงเดือนที่ผ่านมา การที่ทำให้คนรู้ว่าติดเชื้อเร็ว จึงสำคัญ  และการเข้าถึงการรักษาที่ต้องเร็วด้วย จะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะสู้กับโควิด  จึงมีการผลักดันให้ มีการยอมรับ มาตรฐานชุดตรวจคัดกรองโควิดด้วยตัวเอง ว่าจะสามารถใช้ได้และมีประสิทธิผล เพื่อนำไปสู่ระบบการรักษาในรูปแบบที่กำหนดไว้

ขณะนี้ชุดตรวจคัดกรองด้วยตัวเอง โควิด หรือ  แอนติเจนเทสคิด ถือเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการที่จะทำให้ประชาชน เข้าถึงการตรวจได้รับการรักษา ที่สำคัญจะต้องมีการพิจารณาให้รอบคอบว่าชุดตรวจ ชนิดไหนยี่ห้อใดที่มีประสิทธิภาพ

สำหรับชุดตรวจ ATK ที่ชมรมแพทย์ชนบทเอามาใช้ เป็นชุดตรวจมาตรฐานที่ผ่านการรับรองจาก องค์การอนามัยโลก ว่า มีความแม่นยำสูงมาก เช่น กันตรวจคัดกรองเชิงรุก ในครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ประชาชนที่ได้รับการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK จากการตรวจประชาชนที่มีผลบวก100% ทุกคนจะได้รับการตรวจเชื้อซ้ำด้วยวิธีมาตรฐานRT-PCR พบว่า ความแม่นยำของชุดตรวจแอนติเจนเทสคิด อยู่ที่ร้อยละ 99.8

ซึ่งการจะใช้ชุดตรวจคัดกรองด้วยตัวเองจะต้องมีความแม่นยำสูงจริงๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจจากประชาชนที่นำไปตรวจเอง  และผู้ให้บริการ แพทย์ พยาบาลที่ต้องรับช่วงต่อในรับรักษาผู้ติดเชื้อ   อย่างไรก็ตามชุดตรวจคัดกรอง โควิด-19 ที่นำมาใช้นั้น จะต้องผ่านมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็น จากองค์การอนามัยโลก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในหลายๆประเทศ ที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งควรจะต้องได้มาตรฐานอันเดียวกัน

ส่วนประเด็นมาตรฐานความไวของชุดตรวจคัดกรองโควิดด้วยตัวเอง หรือ แอนติเจนเทสคิด ที่ทางอย.ไทย รับรองกำหนดความไวของชุดตรวจ อยู่ที่ร้อยละ 90  ซึ่งอาจพบผลลบปลอมได้ร้อยละ8 แต่ขององค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ ความไว อยู่ที่ร้อยละ 95 นั้น อาจพบผลลบปลอม ร้อยละ5  ทำให้เกิดข้อกังวล ถึงชุดตรวจATKที่ทางอย. ที่จัดซื้อมา   นาย มิตร์  เทียนอุดม  กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  มองว่า ส่วนต่างของค่าเฉลี่ยที่อาจจะเกิดผลลบปลอม ของไทยที่กำหนดไว้ร้อยละ 90  และขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ร้อยละ 95นั้น  เท่ากับว่าในร้อยคน จะมีคน 8 คน ที่อาจเกิดผลลบปลอมได้ หมายความว่าคน 8 คนนี้ ก็จะไม่รู้ว่าติดเชื้อ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อความเจ็บป่วยและเข้ารับการรักษาไม่ทัน

ทั้งนี้ จากการสอบถามไปยังบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้ทำการใช้ชุดตรวจโควิดจากบริษัท ที่อภ.ทำการจัดซื้อมา พบว่า มีความใช้ยาก เนื่องจากก้านที่ใช้ทำการตรวจ เมื่อแหย่ในจมูกเสร็จแล้ว ต้องนำมาเสียบใส่รูในแผ่นกระดาษ ซึ่งต้องค่อยๆทำ รวมถึงมีความยุ่งยากในการหยอดน้ำยา.  หัวใจสำคัญของชุดตรวจคัดกรองโควิดด้วยตัวเอง อีกประการ คือ จะต้องมีขั้นตอนที่ง่ายสำหรับให้ประชาชนตรวจด้วย