องคมนตรีลงพื้นที่ติดตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ จังหวัดบุรีรัมย์

0
5571

วานนี้(13 มีนาคม 2563) นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี และ นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมี นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน นายเกียรติศักดิ์ หนูเเก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 นายเทิดพงศ์ ไทยอุดม ผู้อำนวยการโครงการชลประทานบุรีรัมย์ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง และคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เข้าร่วมประชุม พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินงานและความก้าวหน้าการบริหารจัดการน้ำพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 8 ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์

โอกาสนี้ นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้รายงานสรุปผลการบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 8 ซึ่งประกอบด้วย 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดศรีสะเกษ มีพื้นที่รวมกันทั้งหมด 29.8 ล้านไร่ สามารถพัฒนาเป็นพื้นที่การเกษตรได้ 18 ล้านไร่ ในขณะเดียวกันก็ได้มีการพัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทาน 1.36 ล้านไร่ ซึ่งทั้ง 4 จังหวัด ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำมูลเป็นหลัก ที่ผ่านมากรมชลประทานได้มีการดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำ ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก รวม 118 โครงการ จะมีปริมาณน้ำเก็บกักรวม 1,885 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 21.9% ของปริมาณน้ำท่าซึ่งมีปริมาณเฉลี่ยอยู่ที่ 8,596 ล้าน ลบ.ม.

ปัจจุบันมีน้ำเก็บกักอยู่ที่ 571 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นปริมาตรน้ำที่ใช้การ 469 ล้าน ลบ.ม.
กรมชลประทานได้มีการวางแผนจัดสรรน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในช่วง ปี 2562/2563 ประมาณ 412 ล้าน ลบ.ม. โดยจะแบ่งความสำคัญออกเป็น น้ำอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ เพื่อการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม

โดยโครงการชลประทานที่อยู่ในระหว่างดำเนินการ และจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2563 มีทั้งสิ้น 42 โครงการ จะทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 22 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 32,000 ไร่ สำหรับโครงการที่อยู่ในแผนพัฒนาปี 2564-2566 มีจำนวนทั้งหมด 428 โครงการ หากแล้วเสร็จจะมีปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้น 266 ล้าน ลบ.ม. สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 750,000 ไร่ ในส่วนของการการแก้ไขปัญหาภัยแล้งนั้น กรมชลประทานได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจในการแก้ไขปัญหาและบรรเทาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2562/2563 ขึ้น โดยได้มีการเตรียมความพร้อมทั้งเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 87 เครื่อง เครื่องจักรกล จำนวน 5 คัน รถบรรทุกน้ำ จำนวน 19 คัน ทั่วทั้ง 4 จังหวัด และในกรณีที่ฝนมาล่าช้ากว่าที่กำหนด ทางกรมชลประทานได้เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือสำหรับพร้อมใช้งานให้กับ 111 หน่วย เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างทันท่วงที

.
สำหรับความเป็นมาของโครงการอ่างเก็บน้ำลำนางรองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สืบเนื่องมาจากในปี พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา บริเวณพื้นที่อำเภอโนนดินแดง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ได้ขัดขวางการพัฒนาทุกรูปแบบ มีการต่อสู้ที่รุนแรงในพื้นที่มีการปล้นสะดมตามแนวชายแดนไทย – กัมพูชา ราษฎรไม่สามารถออกไปทำกินนอกหมู่บ้านได้ ความรุนแรงของสถานการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุให้ ราษฎรที่กระจายกันทำกินอยู่ทั่วพื้นที่ อพยพเข้ามาอยู่ในบ้านโนนดินแดง ตำบลโนนดินแดง ก่อให้เกิดปัญหาความแออัดอดอยากทุกข์ยากแสนสาหัส ความได้ทรงทราบถึงพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2521 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้อธิบดีกรมชลประทานในขณะนั้น เข้าเฝ้าเพื่อรับพระราชดำริให้พิจารณาสร้างอ่างเก็บน้ำและฝายทดน้ำบริเวณต้นน้ำลำนางรอง

ต่อมาวันที่ 31 ตุลาคม 2521 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ให้อธิบดีกรมชลประทานเข้าเฝ้า เพื่อรับพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำลำนางรองโดยทรงให้พิจารณาสร้างอ่างเก็บน้ำคลองมะนาว ที่หมู่บ้านโนนดินแดง ตำบลโนนดินแดง อำเภอโนนดินแดง ในปี พ.ศ. 2522 แล้วเสร็จในปีเดียวกัน และดำเนินการสร้างเขื่อนลำนางรองในปี พ.ศ. 2523 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2525 รวมทั้งสร้างอ่างเก็บน้ำลำปะเทีย ในปี พ.ศ. 2525 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2527 และได้สร้างอ่างเก็บน้ำลำจังหันในปี พ.ศ. 2529 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2534 ซึ่งในปี พ.ศ. 2529 กรมชลประทาน ได้อนุมัติตั้งเป็นโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำนางรอง สังกัด สำนักงานชลประทานที่ 8 เพื่อควบคุมการจัดการจัดสรรน้ำให้แก่เกษตรกรในการเพาะปลูกพืชและดูแลการบำรุงรักษาอาคารชลประทานให้สามารถใช้งานได้ดีและมีประสิทธิภาพตลอดเวลา ปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำอยู่ใน ความรับผิดชอบจำนวน 4 อ่าง คือ 1.อ่างเก็บน้ำคลองมะนาว 2. เขื่อนลำนางรอง 3. อ่างเก็บน้ำลำปะเทีย 4. อ่างเก็บน้ำลำจังหัน

ในการนี้ นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี และ นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี ได้เน้นย้ำให้กรมชลประทานจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค และร่วมกันบูรณาการน้ำในทุกมิติ เพื่อให้เป็นน้ำสำหรับความมั่นคงในการดำรงชีวิต ลดความเดือดร้อน ทั้งยังสามารถกระจายน้ำเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับราษฎร ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน พระราชดำริเพื่อประโยชน์สุขแก่อาณาประชาราษฎร์ตลอดไป

.
จากนั้นในเวลา 13.30 น. นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี และ นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรีลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการอ่างเก็บน้ำลำจังหันอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสำโรงใหม่ อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมทั้งรับฟังการบรรยายสรุปโครงการฯ และพบปะราษฎรผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการและร่วมปล่อยพันธุ์ปลาจำนวน 100,000 ตัว จากนั้นได้เดินทางต่อไปยังโครงการประตูระบายน้ำบ้านเทพพยัคฆ์ ตำบลตาจง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปข้อมูลโครงการและร่วมดูสภาพพื้นที่โครงการ พร้อมพบปะเกษตรกรและผู้อยู่ในพื้นที่รับประโยชน์จากโครงการ