“เตือนอีกครั้ง ระวังถูกหลอกให้เช่า “พระเครื่อง” ด้วยใบตรวจอายุคาร์บอน 14 ปลอม”

0
4178

 

เคยเตือนโพสต์เรื่องนี้แล้ว และก็เหมือนกันว่าเป็นคดีความกันในศาลไปแล้วนะ ที่มีคนมาหลอกว่าสามารถออกใบรับรองอายุพระเครื่องได้ ด้วยวิธีการคาร์บอน 14 … วันนี้มีคนหลังไมค์มาถามอีก เลยเอามาสรุปให้ฟังอีกที

วิธีการคาร์บอน 14 นั้นเป็นการตรวจสอบอายุโบราณวัตถุ โดยใช้เทคนิคเชิงนิวเคลียร์ที่เรียกว่า การวัดอายุคาร์บอน (Carbon Dating) ซึ่งเป็นการวัดปริมาณการสลายตัวของธาตุคาร์บอน -14 ในวัตถุที่เป็นส่วนประกอบของโบราณวัตถุชิ้นนั้นๆ เพื่อกำหนดอายุ

แต่การนำเอาวิธีคาร์บอน14 มาตรวจหาอายุพระเครื่องนั้น นอกจากเรื่องของค่าใช้จ่าย และการหาเครื่องที่ใช้ทำการวิเคราะห์ ซึ่งมีบริการอยู่แค่ไม่มีหน่วยงานแล้ว ยังมีข้อจำกัดมากมาย เช่น

– วิธีการคาร์บอน 14 นั้น เหมาะกับวัตถุที่มีช่วงอายุหลายร้อยหลายพันปีขึ้นไป เนื่องจากมีค่าครึ่งชีวิตของไอโซโทปอยู่ที่ 5,730 ปี ดังนั้น ถ้าเอามาวัดวัตถุที่มีอายุแค่ไม่เกิน 200 ปี อย่างพระเครื่องดังๆ หลายๆ รุ่น เช่น พระสมเด็จ ก็จะมีความแม่นยำต่ำจนถึงขั้นไม่น่าเชื่อถือ (แถมบางคน อ้างว่าวัดออกมาละเอียดเป็นปี พ.ศ. ต่างๆ ซึ่งเครื่องไม่ได้จะสามารถวัดละเอียดขนาดนั้น)

– วิธีการนี้ จริงๆ แล้ว ต้องใช้วัสดุจำนวนมากเพียงพอที่จะเอาไปสกัดสารออกมาวัด ต้องมีการบดทำลายพระเครื่องที่เอาไปวัด ซึ่งไม่มีใครอยากจะทำกัน

– ถึงวัดออกมาได้ ก็จะเกิดปัญหาอีกว่าอายุที่แท้จริงนั้นคือเท่าไหร่กันแน่ เพราะพระเครื่องมีส่วนผสมจากมวลสารวัถตุต่างๆ มากมาย ถ้ามีพวกซากฟอสซิลหอย ฟอสซิลปะการังปนอยู่ ค่าที่ได้ก็จะย้อนกลับไปเก่ามากเป็นล้านปีเลย

ดังนั้น จึงอย่าหลงเชื่อใครที่ออกมาแอบอ้างว่ารับตรวจวิเคราะห์พระเครื่อง หรือรับออกใบรับรองให้กับพระเครื่อง ด้วยวิธีคาร์บอน 14 นี้นะครับ
————————
(ดูข่าวเก่าเพิ่มเติมได้ด้านล่างนี้)

สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เตือน ผู้นิยมเช่าพระเครื่อง หรือ ผู้สนใจพระเก่าระวังถูกหลอกขายพระราคาแพง โดยอ้างว่า นำมาตรวจอายุกับสถาบันแล้วเก่าจริง พร้อมทั้งแสดงใบรับรองปลอมหรือตัดต่อใหม่ เพื่อหลอกขายพระแก่ผู้ซื้อในราคาเกินจริง

ด้าน น.ส.นิภาวรรณ ปรมาธิกุล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์ สทน. ผู้ดูแลการออกใบรับรอง เผยถึงขั้นตอนการให้บริการหาค่าอายุโบราณวัตถุว่า สทน.จะรับตรวจวัตถุที่เชื่อว่าจะมีอายุมากกว่า 200 ปี เพราะหากต่ำกว่าเทคนิคนี้จะใช้ไม่ได้ผล

“ผู้ที่มารับบริการต้องยอมให้ สทน.ทำลายตัวอย่างนั้น เพราะขั้นตอนคือ ต้องบดวัตถุให้ละเอียดจนเป็นผง แล้วไปผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อนำไปวัดค่าการสลายตัวของธาตุคาร์บอน-14 ผลการรับรองที่ปรากฏในเอกสารที่ส่งกับไปให้ผู้บริการ คือ ค่าอายุของเนื้อวัสดุที่นำมาทำเป็นพระ ไม่ใช่อายุพระ และเป็นเวลาของการสลายตัวของคาร์บอน-14 ไม่ใช่ปีปฏิทิน” น.ส.นิภาวรรณกล่าว

น.ส.นิภาวรรณ อธิบายอีกว่า ใบรับรองดังกล่าวจะเป็นการรับรองตัวอย่างที่นำมาตรวจเท่านั้น ซึ่งได้ถูกทำลายไปในขั้นตอนการตรวจเรียบร้อยแล้ว ฉะนั้นผู้เห็นใบรับรองที่ออกจาก สทน.อาจต้องใช้วิจารณญาณ ในการเช่าพระเครื่อง เพื่อจะไม่เสียเงินจำนวนมากโดยไม่จำเป็น ในส่วนใบรับรองที่มีผู้นำไปปลอมแปลงขึ้น สทน.จะปรับปรุงให้ใบรองรองมีรูปแบบเฉพาะมากขึ้น เพื่อให้ยากต่อการปลอมแปลงหรือนำไปตัดต่อ

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการตรวจอายุโบราณวัตถุ พระเครื่อง หรือสงสัยว่าเอกสารที่รับรองเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ สามารถติดต่อที่ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) 02 401 9885 ได้ทุกวันเวลาทำการ จันทร์-ศุกร์ 8.30-16.30 น.

Cr.mgronline/อ๋อมันเป็นอย่างนี้เอง by อาจารย์เจษฏ์